เปิดช่องโหว่ "เด็กเกิดน้อย" ด้อยคุณภาพ วัย 0-2.5ขวบ รัฐเอื้อมไม่ถึง
ปี2566 คาด "เด็กเกิดน้อย" พบจากเด็ก 2.3 ล้านคน มีถึงร้อยละ 26 มีภาวะบกพร่องครอบครัว มีพฤติกรรม "หนี นิ่ง สู้"โตมากับความเครียด พัฒนาการช้า ใช้ความรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น วัยกลางคนมีโรคไม่ติดต่อ อายุสั้น ปิดทางก้าวสู่สังคมยั่งยืนหรือไม่?
ด้วยไลฟ์สไตล์และค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่แต่งงานมีครอบครัว หรือแต่งงานและไม่มีบุตร เป็นอีกปัจจัยทำให้ “เด็กเกิดน้อย” เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดภาพรวมสถานการเด็กเล็กของประเทศไทย กับ “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า เด็กเกิดน้อยลง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แต่บ้านเราเด็กเกิดน้อยแต่คนไทยอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น
ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบ 3 เรื่องใหญ่สำคัญในการพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
- สุขภาพกาย สุขภาพใจ
- ศักยภาพ
- พฤติกรรม
“3 เรื่องใหญ่สำคัญมากในการปั้นเด็กเล็ก ความจริงเด็กจะถูกสร้างตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา จนถึงวัย 8 ขวบ การจะสร้างอะไรในตัวเด็กต้องสร้างกันตั้งแต่วัยนี้ เป็นการสร้างว่าในอนาคตเด็กคนนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน 8 ปีแรกจะเป็นตัวกำหนดสุขภาพกาย สุขภาพใจ และพฤติกรรมการเรียนรู้ในอนาคต”
เด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย (อินโฟกราฟิก..เด็กไทยเกิดน้อยลง )และนานาชาติทำงานเชิงรุกร่วมกัน สร้างคนคุณภาพเพื่อก้าวสู่สังคมยั่งยืน ไล่เรียงมาตั้งแต่การทำ "หนึ่งพันวันแรกของชีวิต" เริ่มนับตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 2 ขวบ แต่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังดำเนินการ เน้น "สามพันวันแรกของชีวิต" เริ่มนับตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนเด็กอายุ 8 ขวบ
ที่น่ายินดีทุกพรรคการเมือง สนใจพัฒนาเด็กเล็กมากขึ้น ทำให้เกิดรัฐสวัสดิการต่างๆ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ รัฐบาลอุดหนุนรายหัวละ600 บาทต่อเดือน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี2565 มีเด็กที่ครอบครัวมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 100,000 บาท(แสนบาท)ได้รับสวัสดิการจากรัฐแล้วจำนวน 2.3 ล้านคน
เด็กเล็กจำนวน 2.3 ล้านคน มีถึงร้อยละ 26 มีภาวะบกพร่องครอบครัว มีพฤติกรรม “หนี นิ่ง สู้” โตมากับความเครียด มีพัฒนาการช้า ใช้ความรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ในวัยกลางคนจะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ อายุสั้น ปิดทางก้าวสู่สังคมยั่งยืนหรือไม่
สังคมไทยต้องลงทุนพัฒนาเด็ก ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 8 ขวบ เด็กเล็กเหล่านี้รัฐควรจัดสวัสดิการต่างๆ ดูแลอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกัน ทำให้ดีที่สุด
ในทางปฏิบัติพบว่าประเทศไทยทำแล้วหลายจุดแต่มีช่องโหว่ ไม่สมบูรณ์ เด็กเล็กเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ แม้จะมีการดูแลแบบสงเคราะห์และแบบคุ้มครองเด็ก แต่ไม่ครอบคลุมเด็กเล็กทั้งหมด
ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัมนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 12 เชื่อมโยงฉบับที่13 และตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ เด็กต้องได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน ซึ่งทุกพรรคการเมืองชัดเจนและตื่นตัวในเรื่องนี้มาก
แม้มีหน่วยงานภาครัฐอยู่หลายกระทรวงดูแลเด็กเล็ก แต่ยังมีช่องโหว่ทำให้เด็กเล็กด้อยคุณภาพ เฉพาะวัย 0-2.5ขวบ(ทารก-สองขวบครึ่ง) ในทางปฏิบัติพบว่ารัฐเอื้อมไม่ถึง เป็นจำนวนมาก
เด็กเล็กกลุ่มนี้ พ่อแม่ไม่พร้อม ทั้งจากความยากจน ติดยาเสพติด ป่วยจิตเวช แม่ไม่ยอมฝากครรภ์ ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกหลักอนามัย เด็กที่คลอดออกมาด้อยคุณภาพ ไม่ได้รับการดูแลเลี้ยงดูทั้งด้านสุขภาพกายสุขภาพใจ
เด็กเครียดตั้งแต่เกิด เติบโตเป็นเด็กมีปัญหาไม่สามารถเชื่อมสัมพันธ์เข้ากับสังคมได้ดีเมื่อเทียบกับเด็กทีไ่ด้รับการดูแลด้วยความรักความเข้าใจจากพ่อแม่ครอบครัวที่อบอุ่น
...กมลทิพย์ ใบเงิน..เรียบเรียง