มวล. เอ็มโอยู ‘สหกิจศึกษา’ ปั้นแรงงานป้อน ธุรกิจท่องเที่ยว
มวล.จับมือ 47 สถานประกอบการ ในจังหวัดภูเก็ตและพังงา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้าน "สหกิจศึกษา" เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะนักศึกษาให้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติ มีความพร้อมทำงานจริง แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) ประจำปี พ.ศ.2566 ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบการจากภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 47 หน่วยงาน
โดยเป็นพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 45 หน่วยงาน จังหวัดพังงา 2 หน่วยงาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รักษาการแทนรองอธิการบดี อาจารย์ ดร.อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาฯ ตลอดจนผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของ ม.วลัยลักษณ์ สถานประกอบการ และสื่อมวลชนเป็นสักขีพยาน ห้องประชุมใบเรือ โรงแรม NH Phuket Boat Lagoon จ.ภูเก็ต
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ให้เป็นบัณฑิตที่ “เก่งวิชาการ เชี่ยวชาญการปฏิบัติ จบแล้วทำงานได้” ผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมทั้งทางวิชาการและการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาจากเดิม 4 เดือน เป็น 8 เดือน เพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติงานในหน่วยงานและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง
พร้อมการพัฒนาทักษะและความชำนาญส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีความพร้อมทำงานและเพิ่มความสามารถด้านแข่งขันแก่ประเทศไทย และยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตกำลังคนของ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของหน่วยงานและสถานประกอบการ สามารถรองรับนักศึกษาได้ทุกสาขาวิชาชีพ ที่ไม่เฉพาะหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นในระดับโลก แต่ยังมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานด้านกฎหมาย การบัญชี รวมทั้งด้านการแพทย์ พยาบาล ที่ครอบคลุมทุกมิติ และมีความหลากหลายด้านภาษา ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถปฏิบัติงานสหกิจศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมก้าวสู่วัยทำงานอย่างมืออาชีพ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีความพร้อมในการทำงานจริงแล้วนั้น การลงนามความร่วมมือด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ 47 หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา ยังเป็นการเสริมความเชื่อมั่นด้านการศึกษา จบแล้วมีงานทำ ทำงานได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยว ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปัจจุบันถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ