ข่าว

"หมออดิศักดิ์" วอนรัฐลงทุนพัฒนา "เด็กเล็ก" เต็มร้อย 100 %

"หมออดิศักดิ์" วอนรัฐลงทุนพัฒนา "เด็กเล็ก" เต็มร้อย 100 %

04 ก.พ. 2566

โตมากับความเครียด ตกอยู่ในภาวะป่วยซึมเศร้า ไม่ประสบความสำเร็จในวัยเรียน พบมากในเด็กที่มาจาก ครอบครัวยากจนบกพร่อง หมออดิศักดิ์ นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว วอนรัฐลงทุนพัฒนา "เด็กเล็ก" กลุ่มนี้เต็มร้อย 100 % เพื่อไทยก้าวสู่สังคมดี ชีวิตดี และ มั่นคงยั่งยืน

ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนบุตร จำนวน 2.3 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้ไม่ใช่ “เด็กเล็ก” หรือ เด็กปฐมวัย ทุกคนจะสามารถเจริญเติบโตก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม  เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคำแนะนำจากนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเด็กและครอบครัวระดับแถวหน้าของเมืองไทย

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว เปิดเผยกับ “คมชัดลึกออนไลน์” เด็กเล็กในสังคมไทย มาจากหลายครอบครัว มีการดูแลที่ต่างกันตั้งแต่เด็กทารกอยู่ในครรภ์มารดา ได้รับสารอาหารครบถ้วน หรือไม่ ระหว่างตั้งครรภ์มีการฝากครรภ์กับแพทย์หรือไม่ ประกอบกันมารดามีการเสพสารเสพติดเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญและมีกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กมาก

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เด็กเล็ก” ที่มีแม่เสพยาเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อคลอดเด็กออกมาก็เสี่ยงที่จะติดสารเสพติดได้ง่ายกว่าเด็กปกติที่มีแม่ไม่ติดยาเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ สรุปได้ว่าพ่อแม่ติดยาลูกเกิดมามีโอกาสติดยาเสพติดมากขึ้น

 

“เด็กเล็ก” ควรกินนมแม่ 6 เดือน

นมแม่สำคัญมาก อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลัก ซึ่งได้แก่ โปรตีน ไขมัน น้ำตาลแลคโตส และคุณค่าสายไยรักระหว่างแม่ลูก ทารก หรือ "เด็กเล็ก" ควรได้ดื่มน้ำนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน แต่คุณแม่วัยทำงานในภาคเอกชน หรือ ภาครัฐเท่านั้นที่ลาคลอดหยุดได้ 3 เดือน เพื่อให้นมลูก และยังได้รับค่าตอบแทนเหมือนเดิม จากนั้นต้องกลับมาทำงานใหม่ แต่ระบบไม่ได้ช่วยเต็มที่หรือ 100%

 

เหนืออื่นใด คุณแม่ป้ายแดงที่มีอาชีพขายของชำในร้านค้า หรืออาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเลี้ยงดูลูกและไม่ได้รับเงินสวัสดิการใดๆจากรัฐ แต่ในต่างประเทศมีเงินเลี้ยงดูในช่วงที่แม่ให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง

 

ประเทศไทยเราคุ้มครองเฉพาะในระบบเท่านั้น  แต่ไม่ได้ช่วยเต็มที่ 100% เพื่อให้เด็กเล็กได้ดื่มน้ำนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ส่วนเด็กเล็กที่เกิดในครอบครัวยากจนบกพร่อง ได้ดื่มน้ำนมแม่น้อยมาก หรือ เด็กเล็กบางคนไม่ได้ดื่มนมแม่เลย

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว

 

เด็กที่เติบโตมากับความไม่พร้อมของพ่อแม่ หรือมาจาก "ครอบครัวยากจนบกพร่อง" เด็กไม่ได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้านร่างกายเช่น เด็กเติบโตมากับสภาพแร้นแค้น ทุกข์ยากลำบาก อดมื้อ กินมื้อ แต่ละวันไม่ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ ส่วนสภาพจิตใจตกอยู่ภาวะเครียดตั้งแต่เกิด เมื่อเด็กเจริญเติบโตจะตกอยู่อยู่ในภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย

 

ครอบครัวยากจนบกพร่อง จาก 5 ปัจจัย

  1. แตกแยก
  2. ตีกัน
  3. ติดยา
  4. ติดคุก
  5. สุขภาพจิตไม่สมบูรณ์

(ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)

\"หมออดิศักดิ์\" วอนรัฐลงทุนพัฒนา \"เด็กเล็ก\" เต็มร้อย 100 %

 

พบความสัมพันธ์เด็กที่มีภาวะซึมเศร้า  มาจาก “ครอบครัวยากจนบกพร่อง” ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม มีผลต่อการใช้อารมณ์รุนแรง พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เด็กมีฮอร์โมนความเครียดสูงกว่าเด็กปกติ  พบว่าการศึกษาระบบประสาทเปลี่ยนโครงสร้างของสมอง เป็นการปิดการใช้สมองส่วนหน้า จะตอบสนองด้วยอารมณ์ และพบเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการล่าช้ามาก

 

เมื่อเข้าสู่วัยเรียน  เด็กกลุ่มนี้หลุดจากระบบการศึกษา หรืออยู่ในระบบการศึกษาได้ไม่นาน ทำอย่างไรถึงจะดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้ เมื่อ ครอบครัวยากจนบกพร่อง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐต้องเข้าไปดูแล ส่งเสริม สนับสนุน หรือคุ้มครอง เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาสมวัยทั้งทางร่ายการและจิตใจ 

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีขุมกำลังทำงานเชิงรุกในพื้นที่ อยู่หลายกลุ่ม เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.)อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็นพลังจิตอาสา กลุ่มใหญ่ที่มีส่วนช่วยพัฒนาด้านสุขภาพมากว่า 30 ปี และ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)

 

ถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะลงทุนกับทุนพัฒนา “เด็กเล็ก” กลุ่มนี้เต็มร้อย 100 % เพื่อไทยก้าวสู่สังคมดีชีวิตดีและมั่นคงยั่งยืน หรือจะรอให้ทุกอย่างสายเกินไป

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง