ข่าว

‘พิธา’ ลั่น ไม่ควรมีใคร ‘ถูกกล้อนผม’ ในโรงเรียนอีก

‘พิธา’ ลั่น ไม่ควรมีใคร ‘ถูกกล้อนผม’ ในโรงเรียนอีก

07 ก.พ. 2566

‘พิธา’ ลั่น ไม่ควรมีใครถูกกล้อนผมในโรงเรียน กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล พร้อมดันกฎกระทรวง ห้ามโรงเรียนละเมิดสิทธิฯ- มีผู้ตรวจการเป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่

7 ก.พ. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่มีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งกล้อนผมนักเรียนในโรงเรียน ว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แสดงให้เห็นว่าการลงนามยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยทรงผม ไม่ได้ช่วยทำให้นักเรียนมีเสรีภาพมากขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการปกป้องสิทธิเสรีภาพนักเรียนเพื่อสร้างพลเมืองที่ตอบโจทย์โลกอนาคต

โดยพิธา กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง ที่วันนี้ได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มนักเรียนเลว ที่มีครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้กรรไกรเดินกล้อนผมนักเรียนกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรงในระหว่างเข้าแถวตอนเช้า หลังจากนั้นก็บังคับให้นักเรียนทุกคนแก้ทรงผมกลายเป็นทรงนักเรียนขาว 3 ด้านทั้งหมด แม้กฎเรื่องทรงผมโรงเรียนจะไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องตัดผมเกรียนก็ตาม นี่แสดงให้เห็นว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 เปลี่ยนเป็นการกำหนดแนวปฏิบัติกว้างๆ ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำหลักเกณฑ์ไปกำหนดเป็นระเบียบเอง ไม่ได้เป็นการปลดปล่อยเสรีภาพเหนือร่างกายของนักเรียน แต่กลับทำให้กฎเกณฑ์เรื่องทรงผมนักเรียนถูกกำหนดอย่าง “ไร้ขอบเขต” กว่าเดิม

 

“ผมคิดว่าการสอนและสร้างความสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของมนุษย์ในโรงเรียน เป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะในโลกยุคปัจจุบันเราไม่สามารถเอาวิธีคิดแบบการผลิตพลทหารของโลกยุค 100 ปีก่อน มาใช้ในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรต้องทำจริงๆ คือการประกาศระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ห้ามบุคลากรทางการศึกษาทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามนโยบายของพรรคก้าวไกล” พิธากล่าว

 

สำหรับนโยบาย “การศึกษาที่ปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม” ของพรรคก้าวไกล พิธาเสนอว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ตนจะทำการผลักดันให้ออกกฎกระทรวงศึกษาธิการ ห้ามไม่ให้โรงเรียนทำสิ่งที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเด็ก นอกจากนี้ต้องมีมาตรการในการคาดโทษครูที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับระบบให้ความช่วยเหลือครู และมีผู้ตรวจการที่เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่

 

“ผมเชื่อว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง แต่นี่คือปัญหาร่วมกันของคนทั้งสังคม ถ้าแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน เรายังปกป้องไม่ได้ เราคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นของระบบการศึกษาไทยได้” พิธากล่าวทิ้งท้าย

 

นอกจากนี้ ในโซเชียลมีเดียของพิธายังได้แท็กปัญหานี้ให้ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย