‘ทรงผมนักเรียน’ ใครควรชี้ขาด ใครควรแก้ปัญหา
ตรีนุช เทียนทอง อาศัยอำนาจ รมว.ศธ. ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการมอบอำนาจ ในการตัดสินใจ เรื่อง ‘ทรงผมนักเรียน’ ให้กับโรงเรียน โดยไม่พิจารณาให้รอบครอบ เมื่อเกิดปัญหา ใครควรจะตัดสินใจ
มหากาพย์ ทรงผมนักเรียน ตั้งคำถาม ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ให้แต่ละโรงเรียน กำหนดระเบียบเอง สั่งแล้วต้องรับผิดชอบ
ล่าสุเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้โพสต์ข้อความ ผ่าน เพจ ตรีนุช เทียนทอง Treenuch Thienthong ว่า “กรณีครูกล้อนผมนักเรียนที่ จ.เพชรบูรณ์ ดิฉันได้ดูคลิปแล้วต้องยอมรับว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ ได้ยกเลิกระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน และกำลังยกร่างแนวนโยบายกำหนดระเบียบการไว้ทรงผมของสถานศึกษาเพื่อเป็นแนวทางของสถานศึกษาต่อไป
ส่วนการลงโทษนักเรียนด้วยการกล้อนผมต้องแยกเป็นอีกกรณี ซึ่ง ศธ. ได้วางแนวทางลงโทษนักเรียนไว้เพียง 4 สถานเท่านั้น ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การกระทำของครูรายดังกล่าว แม้จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว แต่ขัดกับแนวทางการลงโทษนักเรียน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งดิฉันได้สั่งการให้ สพฐ. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้ง ผอ.รร. และครู หากพบว่าไม่ถูกต้อง ก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วนต่อไปค่ะ”
ย้อนความก่อนว่า ภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกเปิดเผยจากเพจ “นักเรียนเลว” มีข้อความประกอบภาพ คุณครูกำลังตัดผมนักเรียน หลังมีการเผยแพร่ออกไปก็กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล และสื่อต่างๆ ก็ให้ความสนใจ ติดตามข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อสังคม
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่บริเวณหน้าเสาธง ของโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนก็ออกมาชี้แจง ว่า “รับทราบในการกระทำดังกล่าวของครูในภาพ” พร้อมยืนยันว่า “ครูมีเจตนาดี ”เหตุที่ตัดผมนักเรียนเพื่อเป็นการทำเครื่องหมายไว้ก่อนที่จะนำช่างมาตัดผมให้นักเรียนในเวลาต่อมา และไม่มีนักเรียนคนไหนที่แสดงความไม่พอใจ
การให้ข่าวดังกล่าวเหมือนการเติมเชื้อให้กับไฟ กระแสในโลกโซเชียลมีการต่อต้านอย่างรุนแรง มีองค์กรและพรรคการเมืองมาแสดงจุดยืนต่อต้านและแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย แม้แต่ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ยังออกมาให้ข่าวเพื่อต้องการยุติปัญหา พร้อมสั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้ง ผู้อำนวยการโรงเรียน และ ครู หากพบว่าไม่ถูกต้อง ก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน
ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นภาพของ “ครูรุ่นเก่า” ที่มักอ้างว่า รักเด็กด้วยใจที่เป็นครูเกินร้อย ลงมือกับนักเรียนด้วยความรัก แต่ไม่อยู่ในระเบียบที่กำหนด ไม่สนใจการเปลี่ยนผ่านของกระบวนการทางการศึกษา ยังคงความเป็น “ครูที่ทรงอำนาจ” เป็นตุลาการที่ตัดสินนักเรียน เป็นผู้มีพระคุณที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นพ่อแม่คนที่ 3 ของนักเรียน
ส่วนใหญ่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับ “ครู” ที่มีอายุมากและใกล้วัยเกษียณอายุราชการ และมักจะจบด้วยคำว่า “แกใกล้เกษียณแล้ว ไม่เป็นไร ปล่อยแกไป” ซึ่งพอประมาณได้ว่า น่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงของวงการศึกษาไทย รอ “ครูรุ่นใหม่” เข้ามาทดแทน
แต่ส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบ คงหนีไม่พ้น ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เพราะคนที่บอกว่า ให้แต่ละโรงเรียน กำหนดระเบียบเรื่องทรงผมของนักเรียนกันเอง จากการที่ไม่กล้าตัดสินใจ แม้เรื่องเล็กน้อย
แล้วเรื่องที่ใหญ่กว่าอย่าง “การปฏิรูปการศึกษา” จะไปคาดหวังอะไรได้ วันหน้าถ้ามีข่าวอะไรทำนองนี้อีก ไม่ต้องแถลงอะไรก็ได้ เพราะวิธีการที่ใช้ก็คงหนีไม่พ้น ตั้งคณะกรรมการๆๆ แล้วก็ตั้งคณะกรรมการ
.....ชัยวัฒน์ ปานนิล...เรียบเรียง