ข่าว

เปิดผลสำรวจสุขภาพจิต นักเรียน นักศึกษา พบมี ‘ภาวะซึมเศร้า’ สูงกว่าผู้ใหญ่

เปิดผลสำรวจสุขภาพจิต นักเรียน นักศึกษา พบมี ‘ภาวะซึมเศร้า’ สูงกว่าผู้ใหญ่

09 ก.พ. 2566

เปิดผลกรมสุขภาพจิต พบนักเรียน/นักศึกษา ช่วง 15-24 ปี มี ‘ภาวะซึมเศร้า’ เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงพบการฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยผู้ใหญ่

9 ก.พ. 2566 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ โดย แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวะศึกษา ได้ร่วมแถลงถึงความเป็นมาของโครงการ ที่เกิดเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการร่วมกัน ผลักดันดูแลสภาพจิตใจนักเรียน และเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตภายในสถานศึกษา ทั่งบุคลากรและนักเรียน นักศึกษา

พญ.อัมพร เผยว่า จากผลสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในปี 2565 พบวัยรุ่นและเยาวชนใน ช่วง 15-24 ปี มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำ โดยกลุ่มอายุต่ำกว่า20 ปี มีความเครียดในระดับสูง มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตาย สูงว่ากลุ่มประชาชนในวัยผู้ใหญ่วัยทำงาน

 

ทั้งนี้ยังพบว่านักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลสร้างเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาในการดำเนินชีวิตและกระทบต่อสังคมคนรอบข้าง โดยจากความร่วมมือจะมีการส่งเสริมให้ศูนย์สุขภาพจิตและโรงพยาบาลหรือสถาบันภายใต้สังกัดกรมสุขภาพจิต ในพื้นที่ใกล้สถานศึกษามีส่วนร่วมดูแลด้านสภาพจิตใจของนักเรียน นักศึกษา

 

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวะศึกษา ระบุว่า ในปีการศึกษาปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาในสังกัดการอาชีวะศึกษา ประมาณ 1.2 ล้านคน นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เน้นให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียน โดยทางด้านจิตใจพบว่าในกลุ่มนักเรียน/นักศึกษามีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่เติบโตออกมามีสภาพจิตใจที่ดี ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสมในทุกด้าน มีทัศนคติเชิงบวกเป็นแบบอย่างทีาดีและที่พึ่งพิงของสังคม

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการดำเนินการดูแลสภาพจิตใจของนักเรียนนักศึกษา ที่เป็นรูปธรรมคือ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่งทั่วประเทศ มีการตั้งเป้า ในปี 2566 เด็กไทย 1 ล้านคน (นักเรียน/นักศึกษา) จะสามารถช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น และสามารถคัดกรองประเมินสุขภาพจิตตัวเอง และผู้อื่นได้ พร้อมทั้งมีทักษะในการดูแลสภาพจิตใจ ของตนเองเยื้องต้นจากปัญหาที่ประสบอยู่