ต่อมสำนึก ผู้มีอำนาจใน ‘มหาวิทยาลัย’ บิดเบี้ยว อว.ควรทำอย่างไร
สถาบันอุดมศึกษาแหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้เป็น คนดีและเก่ง เมื่อ เบ้าหลอม ผู้มีอำนาจใน ‘มหาวิทยาลัย’ บิดเบี้ยว ผู้บริหารไม่เคารพหลักธรรมาภิบาล เกิดแย่งชิงตำแหน่ง อนาคตบัณฑิตที่ผลิตออกมาจะเป็นอย่างไร
พูดถึง การเมือง ทุกคนย่อมคิดว่ามีเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนรัฐสภา และองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) ทั่วไป แท้จริงแล้วการเมืองมีทุกหนแห่งไม่เว้นแต่ในรั้ว มหาวิทยาลัย ทั้งที่องค์กรนี้ ควรมุ่งเน้นหลักวิชาการ สอนสั่ง บ่มเพาะเยาวชนให้เป็น คนดีและคนเก่ง เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
แล้วทำไมกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ต้องวางแนวปฏิบัติด้าน ธรรมาภิบาล จริยธรรม ออกมามากมาย ทั้งที่หากทุกคนในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่ในสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร อธิการบดี คณบดี หัวหน้าสาขาวิชาตลอดจนบุคลากรทุกฝ่ายยึดมั่นในความซื่อสัตย์ พึงปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักวิชาการอย่างตรงไปตรงมาด้วยความถูกต้องตามกฎหมายและตามทำนองคลองธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้
ไม่แสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่มีนัยยะ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โดยยึดมั่นในหลักการและถือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ปราศจากอคติ กล้าแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามอิทธิพลใดๆเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์หรือสถานภาพของตน
ประการสำคัญต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมและเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลโดยใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว
ถามว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นหรือไม่
ตอบ “จำเป็นอย่างยิ่ง” ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ที่ผ่านมามีการร้องเรียน ฟ้องร้อง ในมหาวิทยาลัยมากมายอย่างเหลือเชื่อ ว่านี่คือสถาบันอุดมศึกษาที่จะเป็นแหล่ง “บ่มเพาะ” เยาวชนให้เป็น “คนดีและเก่ง” เมื่อ “เบ้าหลอม” ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัย “บิดเบี้ยว” แล้วบัณฑิตที่จะออกมาจะเป็นอย่างไรเพราะเมื่อผู้บริหาร “ใจคด” ในทุกเรื่องรวมทั้งการแย่งชิงตำแหน่ง
โดยไม่ดูผลงานความสามารถของบุคคลที่จะขึ้นสู่ตำแหน่ง แต่เน้นความเป็น “พรรคพวก” นั่นคงเป็นสาเหตุที่มาของการออก “แนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันการศึกษา” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปแล้วเมื่อ 20 ธันวาคม 2564 และออกมาอีกฉบับเมื่อ 19 ธันวาคม 2565 แต่ก็เป็นเพียง “แนวปฏิบัติ” ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี
ถามว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะปฏิบัติตามหรือไม่ “ตอบ”...ได้เลยว่า “คงไม่” หากกระทบกับตัวเองเพราะเป็นเพียงแนวปฏิบัติ ไม่ใช่ข้อ “กฎหมาย” ที่ต้องปฏิบัติตาม “เพราะแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลเป็นเพียงแนวปฏิบัติซึ่งมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าพระราชบัญญัติ”
ยกตัวอย่างตามแนวปฏิบัติธรรมาภิบาล หมวดที่ 2 ส่วนที่ 1 องค์ประกอบและโครงสร้างสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัย “ข้อ 10 โดยสรุปคือการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยควรกำหนดสัดส่วนจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยให้มีบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการสภาทั้งหมด
และข้อ 14 โดยสรุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิควรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปีและไม่ควรดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกินกว่า 8 ปี ถามว่ามีมหาวิทยาลัยแห่งใดปฏิบัติบ้าง
”ย้ำ“ เพราะแนวปฏิบัตินี้ ไม่ได้เป็นกฎหมาย เป็นเพียงแนวปฏิบัติเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงและปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ จึงมีได้เพียง ”จิตสำนึก“ ของแต่ละบุคคลเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น อว.ยังมีหนังสือเวียนแจ้งทุกมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ”ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาบุคลากรและผู้ปฏิบัติงานอื่นในสถาบันศึกษา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปแล้วเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2565ด้วย
คำถามสุดท้าย อว.ควรทำอย่างไรเพื่อให้การวางแนวปฏิบัติเพื่อสิ่งที่ดีงามในสังคมไทยถือปฏิบัติได้จริง