ข่าว

ปรากฏการณ์ 'กล้อนผม' สะท้อน 'ครู' เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ปรากฏการณ์ 'กล้อนผม' สะท้อน 'ครู' เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

13 ก.พ. 2566

ปี2566 ยังมีปรากฏการณ์ 'กล้อนผม' เด็กนักเรียนสะท้อนภาพ 'ครู' ยังเข้าใจว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ยอมปรับเปลี่ยน ส่วนหนึ่งมาจากภาพใหญ่ที่ไม่เอาจริงกับการวัดผลประเมินผล O-NET เหตุกลัวเสียหน้า

วินาทีที่ ครู กำลังจะ กล้อนผม นักเรียน ครูรู้บ้างไมว่าเด็กบางคนเหงื่อนแตก เด็กบางคนเกิดความเครียด วิตกกังวล อับอาย แม้เป็นการกล้อนผมแบบหมู่มีเพื่อนอยู่ในภาวะเดียวกันนับร้อยชีวิต  แต่ร่องรอยบาดแผลในใจเด็กยังตราตรึงไปอีกนาน

 

แม้วันเวลาผ่านไป เมื่อได้รับแรงกระตุ้น ภาพจำในอดีตของนักเรียนเมื่อครั้งถูกครูกล้อนผม ก็จะผุดขึ้นมาอีกครั้ง กับความรู้สึกเจ็บปวด พร้อมกับคำถามทำไมครูทำแบบนี้ 

 

ย้อนเส้นทางการปฏิรูปการศึกษาไทย ไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพครูบางคน ยังฝังรากลึกถึงการใช้อำนาจในการจัดการปัญหาเมื่อไม่สามารถทำให้นักเรียนปฏิบัติตามได้

 

ปี2566 ไม่น่าเชื่อสังคมไทย ยังมี ‘ครู’ ที่ยังเข้าใจว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ ไม่ยอมปรับเปลี่ยน ส่วนหนึ่งมาจากภาพใหญ่ของการบริหารจัดการศึกษา ที่ไม่เอาจริงกับการวัดผลประเมินผล เพราะกลัวเสียหน้า เช่น O-NET

 

ระบบวัดผลประเมินผล ของการศึกษาไทย กำลังล้มเหลว ทั้งระบบ ตั้งแต่ อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย แต่การสอบ O-NET แม้ ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)สั่งยกเลิกบังคับนักเรียนชั้นป.6 ,ม.3, ม.6 สอบโอเน็ต แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนค่อนประเทศยังจัดสอบตามปกติ

 

ผอ.โรงเรียน ส่วนมาก สบช่องนำผลคะแนนสอบโอเน็ตมาเป็นตัวชูโรง ติดป้ายประกาศเกียรติคุณนักเรียน ไว้หน้าโรงเรียน หวังสร้างชื่อให้กับโรงเรียน และเรียกเรดติ้ง สร้างแรงจูงใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งลูกมาเรียน

 

ปี2566 ครู ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ครู หรือ ผอ.โรงเรียน ควรปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกัน ควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีมนุษย์

 

ครู หรือ ผอ.โรงเรียน มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก นักเรียนทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ไม่ใช่เป็นฝ่ายกระทำนักเรียนด้วยตัวเอง

 

ครู และ ผอ.โรงเรียน เลิกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ควรจัดการศึกษาที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก บนพื้นฐานการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และ อิสรภาพขั้นพื้นฐาน และเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล เด็กแต่ละคนเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ทรงคุณค่า เป็นหน้าที่ของครูต้องขัดเกลาจิตใจให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 

อย่าให้สังคมร้องยี้ เนี่ยเหรอ ‘ครู’ ทำร้ายนักเรียนอีกแล้ว

....กมลทิพย์ ใบเงิน....เรียบเรียง