14 กุมภาพันธ์ ‘วันราชภัฏ’ คนของพระราชา สู่ ‘วิศวกรสังคม’
31 ปี 'สถาบันราชภัฏ' หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้ง 38 แห่ง กระจายอยู่ตามท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นคนของพระราชา มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจฐานราก สู่บทบาท ‘วิศวกรสังคม’
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์การศึกษาไทย และของชาวราชภัฏทั่วประเทศ โดยเมื่อปี 2535 ในวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนาม สถาบันราชภัฏ แทน วิทยาลัยครู
ย้อนเส้นทาง วิทยาลัยครู ก่อนปี 2535 อยู่ในสังกัดกรมการฝึกหัดครู(กฝ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)วิทยาลัยครูทั่วประเทศปฏิบัติภารกิจภายใต้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ที่มีสาระสำคัญคือยกฐานะวิทยาลัยครูให้ผลิตครูได้ถึงระดับปริญญา และ พ.ร.บ.วิทยาลัยครู ฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ที่มีสาระสำคัญคือกำหนดบทบาทให้วิทยาลัยครูจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองท้องถิ่น ทำให้วิทยาลัยครูทั้ง 36 แห่งได้มีการพัฒนารุดหน้าไปทุกๆด้าน
จากเดิมวิทยาลัยครู ผลิตครูในระดับประกาศนียบัตร ได้พัฒนาตนเองจนถึงขั้นผลิตครูระดับปริญญาบัณฑิต อันเป็นบุคคลระดับมันสมองของประเทศ
ต่อมามีการพัฒนาไต่ระดับถึงขั้นผลิตบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ ทั้งศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้เป็นผลสำเร็จ แต่คนทั่วไปยังคงยึดติดว่าวิทยาลัยครูผลิตบัณฑิตเฉพาะสายครูเท่านั้น และเข้าใจผิดว่าบัณฑิตจากวิทยาลัยครูจะต้องประกอบวิชาชีพครูเพียงอย่างเดียว
บัณฑิตที่จบการศึกษาในสายวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ขาดโอกาสในการได้งานทำ ก่อให้เกิดความ น้อยเนื้อต่ำใจ จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของสังคม ด้วยภาพจำวิทยาลัยครู ต้องผลิตครูเท่านั้น
กรมการฝึกหัดครู (กฝ.) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ดำริที่จะขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง โดยขอพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครู และเพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะสม จึงได้ระดมสมองคิดหาชื่อใหม่ที่ดีที่สุดส่งขึ้นไปเพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นนามใหม่แทนวิทยาลัยครู
ว่ากันว่า มีการเสนอหลายชื่อ แต่คำว่า สถาบันราชพัฒนา เป็นคำที่ถูกใจคณะกรรมการมากที่สุด กรมการฝึกหัดครูจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของวิทยาลัยครู และขอพระราชทานนามใหม่ว่า สถาบันราชพัฒนา หรือ ชื่ออื่นใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
ในที่สุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม สถาบันราชภัฏ แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 นับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
ราชภัฏ เป็นคำศัพท์ที่ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัยและทรงสรรหาด้วยพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการของวิทยาลัยครูอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ราชภัฏ เป็นศัพท์โบราณ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า ข้าราชการ หมายถึงปราชญ์ของพระราชา นับได้ว่า “ราชภัฏ” นี้เป็นคำสูงส่ง เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งชาว มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สมควรจะเทิดไว้เหนือเกล้าและจงรักภักดีด้วยการตั้งปณิธานที่จะประพฤติ และปฏิบัติหน้าที่เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สืบไป
เวลาผ่านไป ร่วม 31 ปี “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” จากเดิมมี 36 แห่ง และเพิ่มมาอีก 5 แห่งรวมเป็น 41 แห่ง ในยุค สุขวิช รังสิตพล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่แปรสภาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยนอกระบบ มีความคล่องตัวในการบริหารงานบุคลากร บริหารเงินงบประมาณ ผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ควบคู่ไปกับเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้คู่ปฏิบัติจริง
38 มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดั่งปรากฏในหลายสถาบันจากเดิมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โอนย้ายมาอยู่ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กับบทบาทที่กระแสสังคมเรียกร้อง วิศวกรสังคม เปิดหลักสูตร และคณะวิชาที่ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ทั้งผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน เป็นที่พึ่งของประชาชน ช่วยขับเคลื่อนครอบครัวเกษตรกร ครอบครัวแรงงาน ในระดับเศราฐกิจฐานรากของสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี กินดี มีสุข สุขภาพแข็งแรง
...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง