ข่าว

‘สืบพงษ์’ แถลงกลับนั่งเก้าอี้ ‘อธิการ ม.ร.’ หลังศาลสั่งคุ้มครอง

‘สืบพงษ์’ แถลงกลับนั่งเก้าอี้ ‘อธิการ ม.ร.’ หลังศาลสั่งคุ้มครอง

14 ก.พ. 2566

'สืบพงษ์ ปราบใหญ่' นำทีมผู้บริหารแถลงกลับนั่งเก้าอี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง หลังศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองระงับมติ สภา ม.ร.ปลดพ้นตำแหน่ง ศาลชี้ไม่เปิดโอกาสชี้แจง อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

14 ก.พ. 2566 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ม.ร.) ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แถลงข่าวศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากเหตุการณ์ที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง(สภา ม.ร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ด้วยข้อกล่าวหาว่าประพฤติผิดจริยธรรมและ

 

จรรยาบรรณในพฤติการณ์ กรณี คือ 1.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ให้ความช่วยเหลือนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการรับโอนที่ดินจากนายสุพจน์ จำนวน 2 แปลง และกล่าวอ้างว่าเงินของนายสุพจน์ที่ถูกยึดเป็นของกลางส่วนหนึ่ง คือเงินจำนวน 4,500,000 บาทนั้นเป็นเงินของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ 

 

เมื่อมีคำพิพากษาให้ที่ดินและเงินของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ ตกเป็นของแผ่นดิน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ไม่ได้รายงานให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นต้นสังกัดทราบ สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าเป็นการประพฤติผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2562 และเข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยจรรยาบรรณข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้าง ม.ร. รวมถึง ผิดพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ.2547

 

2.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ใช้คุณวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. มาสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่มีฐานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาแต่แรก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดจริยธรรม และ

 

 3.ผศ.ดร.สืบพงษ์ ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ขาดไร้จริยธรรมและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

ผศ.ดร. สืบพงษ์ ปราบใหญ่ นำทีมผู้บริหารแถลงกลับนั่งเก้าอี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง

ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ พร้อมทีมผู้บริหารแถลงกลับนั่งเก้าอี้ อธิการบดี ม.รามคำแหง

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ในการประชุมครั้งนั้นมีมติถอดถอนอธิการบดี และแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีอุปนายกสภามหาวิทยาลัย (ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย ลงนามหนังสือแต่งตั้งดังกล่าว และได้เพิกถอนสัญญาจ้าง ผศ.ดร.สืบพงษ์ จากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามมา

 

ศาลมีความเห็นว่า กรณีสภามีมติถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่ง ควรต้องให้โอกาสเจ้าตัวได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน จึงเป็นการกระทำที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากมีมติพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข ผศ.ดร.สืบพงษ์ จะเสียโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง การทุเลาการบังคับของศาลในกรณีนี้จะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือแก่บริการสาธารณะ โดยการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย

 

นอกจากนี้ศาลยังมีความเห็นว่า การแต่งตั้ง ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี น่าจะไม่ขอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ ผศ.ดร.สืบพงษ์ โดยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี อีกทั้งศาลเห็นว่า ผศ.ดร.สืบพงษ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีได้ต่อไป

 

ศาลจึงได้มีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี และแต่งตั้งผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งทุเลาการบังคับคำสั่งการถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ผศ.ดร.สืบพงษ์ ระบุว่า ภายหลังศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองให้กลับมาปฎบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดี ม.รามคำแหง จึงได้นำคำสั่งศาลดังกล่าวแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทราบแล้ว รวมถึงแจ้งให้ที่ประชุมสภา ม.ร.ทราบ เพื่อกลับมาปฎบัติหน้าที่อธิการบดี ม.ร.ตามเดิม 

 

แต่ปรากฎว่า สภา ม.ร. ได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่าไม่สามารถปฎิบัติตามคำสั่งศาลได้เนื่องจากก่อนหน้านี้สภา ม.ร.ได้มีมติเลิกจ้างตนเองจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้วเป็นเหตุให้ตนเองไม่สามารถเป็น อธิการบดี ม.ร. ได้ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครอง จึงได้แจ้งไปยังศาลปกครองทราบเพื่อมีคำสั่งต่อไป

 

“การที่ สภา ม.ร. ไม่ปฎบัติตามคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครอง ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเสียหาย ถ้าไม่ยอมรับคำสั่งศาลก็ควรไปใช้กระบวนการศาลในการยื่นอุทธรณ์ ผมยืนยันจะกลับมาปฎิบัติหน้าที่พร้อมกับรองอธิการและผู้บริหาร ม.รามคำแหง ที่ผมแต่งตั้งขึ้น เพื่อเดินหน้าพัฒนาองค์กรต่อไป” ผศ.ดร.สืบพงษ์ กล่าว

 

ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง