ข่าว

Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ สู่สายตาชาวโลก

Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ สู่สายตาชาวโลก

17 ก.พ. 2566

ความท้าทายของสถานศึกษาด้าน Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ กับภารกิจบ่มเพาะบุคลากรป้อนธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ สู่สายตาชาวโลก เผยทิศทางการเรียนการสอนหลังโควิดคลี่คลาย รับการกลับมาเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

แม้สถานการณ์โควิด19 ทั่วโลกยังไม่สามารถไว้วางใจได้อย่างเต็มที่ เพราะแนวโน้มการแพร่ระบาดยังคงมีความผันผวนขึ้น-ลงอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตของผู้คนต้องขับเคลื่อน การกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง การพัฒนาของยารักษาโรค ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ให้ได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่เคยซบเซาไปทั่วโลกค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นลำดับ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พบว่า มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจบริการในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็เริ่มประกาศหาผู้ร่วมงานเพื่อรองรับการกลับมาแบ่งบานของการท่องเที่ยว

 

ในฐานะที่ วิทยาลัยดุสิตธานี (วดธ.หรือ DTC.)สถาบันอุดมศึกษาที่สอนด้านธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว และศิลปะการประกอบอาหาร ในเครือโรงแรมดุสิตธานี เป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมนี้โดยตรง จึงได้รับการจับตามองว่า มีทิศทางในการบ่มเพาะบุคลากรด้านนี้ต่อไปอย่างไร

 

วิทยาลัยดุสิตธานี เปิดทำการเรียนการสอนมาจะครบ 30 ปีเต็มในปี 2566 ฟราวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี เปิดเผย “คมชัดลึก” ว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา วิทยาลัยได้ผ่านสถานการณ์และอุปสรรคต่างๆ ที่หลากหลาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ของธุรกิจบริการและสถาบันการศึกษาอย่างวิทยาลัยดุสิตธานี 

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราจึงพยายามพัฒนาหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี และ ปริญญาโทให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกมากขึ้น โดยวิทยาลัยยังคงมุ่งมั่นในการรักษาคุณภาพของสาขาวิชาการจัดการโรงแรมให้ได้ตามมาตรฐานสากลและตามมาตรฐานที่องค์กรแม่คือโรงแรมดุสิตธานีได้วางไว้ นั่นคือการเผยแพร่ความเป็น Thai Hospitality สู่สายตาชาวโลก 

 

โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในบรรยากาศจริงกับโรงแรมในเครือดุสิตธานีและโรงแรมพันธมิตร ภายใต้คอนเซ็ปต์ Real World Experience ดังนั้นเมื่อนักศึกษาจบไปก็จะสามารถทำงานจริงได้ทันที อีกทั้งเราประเมินไว้แล้วว่า สุดท้ายแล้วคนเราก็ต้องปรับตัวเพื่อออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง การบ่มเพาะบุคลากรป้อนธุรกิจท่องเที่ยวและบริการจึงเป็นสิ่งที่เราไม่อาจละเลย ไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ตาม

ที่ วิทยาลัยดุสิตธานี วิชาการจัดการโรงแรมมีเป้าหมายให้ได้ตามมาตรฐานสากล

Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ สู่สายตาชาวโลก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เห็นความสำคัญของนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว ที่มุ่งสอนให้นักศึกษารู้จักคิดค้นนวัตกรรมมาทำให้การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการสะดวกสบาย มีความคล่องตัว และน่าสนใจมากขึ้น โดยมีตัวอย่างเช่นโรงแรมอาศัย กรุงเทพ ไชน่าทาวน์ ในเครือโรงแรมดุสิตธานี ที่ให้แขกผู้เข้าพักสามารถเช็กอิน-เช็กเอาต์ได้ด้วยตัวเองเพื่อเลี่ยงการสัมผัส หรือการที่วิทยาลัยทำความร่วมมือกับเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลพัฒนาหลักสูตรการให้บริการแก่สถานพยาบาล เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมมีความสำคัญมากสำหรับธุรกิจในยุคนี้เพราะผู้บริโภคมีความสนใจที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

 

นอกจากนี้การที่คนเรา Work from Home ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเทรนด์การทำอาหาร ผู้คนค้นพบความชอบและศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง อีกทั้งยังทำให้เห็นชัดว่า ธุรกิจอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่เป็นธุรกิจที่ยังไปรอด สาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหารจึงกลายเป็นสาขาที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วิทยาลัยจึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านอาจารย์และอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น ห้องปฏิบัติการครัวที่ได้มาตรฐานเหมือนในอุตสาหกรรมจริง

ฟราวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี

 

ส่วนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทำให้วิทยาลัยมองเห็นทิศทางใหม่ๆ นั้น ฟราวเกอะ อธิบายว่า ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ซึ่งแต่เดิมมีกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจการบริการและกลุ่มวิชาผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม โดยเพิ่มกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) เข้าไป โดยสอนเกี่ยวกับธุรกิจอาหารครอบคลุมทุกมิติ ผสมผสานศาสตร์ที่หลากหลายซึ่งจำเป็นต่อการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ได้มุ่งเน้นแค่ศิลปะการประกอบอาหารหรือการเปิดร้านอาหารเพียงอย่างเดียว แนวคิดเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงทิศทางการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์หลังโควิดคลี่คลาย

 

ฟราวเกอะ ยังย้ำอีกครั้งด้านการผลักดันให้นักศึกษามีประสบการณ์การเรียนแบบ Real World Experience ว่ามีความสำคัญมากต่อธุรกิจในปัจจุบัน เพราะผู้ประกอบการย่อมต้องการผู้ร่วมงานที่สามารถลงมือทำงานอย่างเป็นมืออาชีพได้ทันที โดยไม่ต้องฝึกฝนใดๆ เพิ่มเติมอีก วิทยาลัยดุสิตธานีจึงริเริ่มการเรียนการสอนในรูปแบบ WIL (Work Integrated Learning) อันเป็นการให้นักศึกษาได้ออกไปฝึกงานในสถานประกอบการจริงตั้งแต่ชั้นปีต้นๆ

 

และพันธกิจหนึ่งของวิทยาลัยคือ Internationalization หรือการปลูกฝังแนวคิดสากลให้แก่นักศึกษา เนื่องจากเล็งเห็นว่า ปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่สามารถถ่ายโอนแลกเปลี่ยนแรงงานกันได้ทั่วโลก จึงจำเป็นมากที่การศึกษาต้องบ่มเพาะให้ผู้เรียนก้าวไปเป็นคนของประชาคมโลก ไม่ใช่แค่คนของประเทศใดประเทศหนึ่ง

 

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญในฐานะสถาบันการศึกษาคือการตอบแทนสังคม วิทยาลัยดุสิตธานีจึงมีแนวคิดในการจัดงาน ASEAN Hospitality Talent Fair มหกรรมจัดหางานในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการระดับอาเซียน ในวันที่ 30-31 มีนาคม 2566 สถานที่วิทยาลัยที่จะถึงนี้ เพื่อสนับสนุนทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้มองหางานให้พร้อมรับการกลับมาเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการนั่นเอง

Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ สู่สายตาชาวโลก

Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ สู่สายตาชาวโลก

Thai Hospitality ‘วิทยาลัยดุสิตธานี’ สู่สายตาชาวโลก