ข่าว

'สืบพงษ์' อธิการบดี ม.รามฯ ลุยเอาผิด รักษาการ แจ้งความเท็จ

'สืบพงษ์' อธิการบดี ม.รามฯ ลุยเอาผิด รักษาการ แจ้งความเท็จ

20 ก.พ. 2566

'สืบพงษ์' ออกประกาศ ม.ร. กำชับเจ้าหน้าที่ทุกส่วนปฎิบัติงานตามคำสั่ง เหตุศาลปกครองสั่งคุ้มครองให้นั่งอธิการบดีต่อ พร้อมแจ้งความดำเนินคดี ผศ.บุญชาล ทองประยูร รักษาการอธิบดีฯ และผู้เกี่ยวข้อง แจ้งความเท็จคดีอาญากล่าวหาบุกรุกสถานที่ราชการ

20 ก.พ. 2566 ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกประกาศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรื่อง ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับ ปฏิบัติงานตามปกติภายใต้คำสั่งอธิการบดี ตามคำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ บ.12/2565 ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565 มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 128/2564 ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2565 เรื่อง ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ

 

แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 131/2564 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2564 ตั้งแต่ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป 
 

ซึ่งออกตามมติดังกล่าวไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือ คำสั่งเป็นอย่างอื่น และ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าว ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 235/2565 คำสั่งที่ 511/2565 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 21/2565

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และที่แต่งตั้งผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี รวมทั้งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ที่ถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 120/2565 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่แต่งตั้งผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ตามคำสั่งศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นั้น

เมื่อศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวได้มีคำสั่งให้ทุเลาการยังคับตามคำสั่งทางปกครอง จึงมีผลให้มติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง และที่แต่งตั้งผศ.บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ไม่มีผลใช้บังคับเป็นการชั่วคราว

 

อธิการบดีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีมติและคำสั่งถอดถอนอธิการบดีและย่อมส่งผลให้ รองอธิการบดีที่พันจากตำแหน่งไปด้วยเหตุที่อธิการบดีถูกถอดถอนในครั้งดังกล่าวนี้ กลับคืนสู่ฐานะเดิม ด้วยเช่นกัน

 

ในคดีตามที่คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่ถอดถอนอธิการบดีออกจากตำแหน่ง อันมีมูลเหตุจากข้อกล่าวหาหนึ่ง คือ การรับรองวุฒิการศึกษา ซึ่งประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางด้วยแล้ว การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ย่อมหมายความว่า การถอดถอนอธิการบดีด้วยเหตุวุฒิการศึกษานั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นคู่กรณีในคดีจึงต้องผูกพันตามคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าว โดยไม่อาจนำเรื่องการรับรองวุฒิการศึกษาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล มาอ้างว่าอธิการบดีขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งและไม่อาจนำเรื่องการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าว ซึ่งกระทำสืบเนื่องจากการถอดถอนอธิการบดีมาอ้างว่าอธิการบดีขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งได้เช่นกัน

 

อาศัยคำสั่งของศาลปกครองข้างต้น ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564 อธิการบดีในฐานะผู้บังคับบัญชาและผู้รับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย จึงมีอำนาจสั่งการและปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องในการบังคับบัญชาและการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

1) ให้ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างมหาวิทยาลัยทุกระดับ ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ ที่อธิการบดีได้สั่งการทั้งปวงในอดีตและปัจจุบัน

2) ให้ยกเลิกประกาศ และคำสั่งรักษาราชการแทนอธิการบดีทั้งปวง ที่ออกนับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 11.45 น. เป็นต้นไป และให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขการปฏิบัติงานให้ชอบด้วยกฎหมายที่กำหนดไว้โดยด่วน เพื่อการป้องกันความเสียหายต่อ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและนักศึกษา

3) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งรองอธิการบดี ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 109/2565

เรื่อง แต่งตั้งรองอธิการบดี ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 และคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่

114/2565 เรื่อง แต่งตั้งรองอธิการบดี ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565

4) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายโดยเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยรามคำแหงเกิดประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุดต่อนักศึกษาและประเทศชาติภายใต้หลักการธรรมาภิบาล จึงให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันและให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


นอกจากนี้ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มอบอำนาจให้ผู้แทนเข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ให้ดำเนินคดีกับ ผศ.บุญชาล ทองประยูร รักษาการอธิบดีฯ ในข้อหา “รู้ว่าไม่มีการกระทำผิดอาญา แต่แจ้งพนักงานสอบสวนว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น อีกด้วย

 

สำหรับพฤติการณ์แห่งคดี กล่าวคือ ผศ.สืบพงษ์ ผู้เสียหายได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกาศราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 14 กันยายน 2564

 

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 21/2565 ถอดถอนข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกคำสั่งสภามหาวิทยาลัยที่ 119/2565 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน โดยอุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภาฯ ถอดถอนผู้เสียหายออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

ผู้เสียหายเห็นว่าการถอดถอนผู้เสียหายออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

นอกจากนี้ผู้เสียหายยังได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถอดถอนผู้เสียหายออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและเรื่องอื่นๆ ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีคำสั่งทุเลาในเรื่องอื่นๆ โดยสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง บุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แล้วคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาดังกล่าว คุ้มครองข้าพเจ้าให้สามารถข้าปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541ได้ต่อไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ผศ.บุญชาล กล่าวอ้างว่าเป็นรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แทนข้าพเจ้า ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ให้ดำเนินคดีผู้เสียหายในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ และยังกล่าวอ้างว่าผู้เสียหายใช้คุณวุฒิปริญญาดุษฎีบัณฑิตที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. มาใช้สมัครเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและกล่าวอ้างว่าคำสั่งศาลปกครองกลางไม่ได้คุ้มครองสัญญาจ้างฯ ผู้เสียหายจึงไม่สามารถกลับเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ประเด็นต่างๆที่กล่าวหาผู้เสียหายนั้น ไม่เป็นความจริงเป็นการบิดเบือน ข้อจริงทั้งสิ้น ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

 

เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงมีอำนาจในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ผู้เสียหายในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ เป็นการที่ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจและบุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับรู้อยู่แล้วว่าการที่ผู้เสียหายเข้า ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครอง ซึ่งเป็นคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ข้าพเจ้าจึงสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีการเข้าแจ้งความร้อทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้เสียหายในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ทั้งที่ รู้ดีอยู่แล้วว่าข้าพเจ้ามีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย 

 

การกระทำของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการกระทำที่รู้ดีอยู่แล้วว่าผู้เสียหายมิได้กระทำความผิด แต่กลับร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าผู้เสียหายกระทำความผิด ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายผู้เสียหายจึงขอมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ ตามกฎหมายต่อพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก และพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักร สอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผศ.บุญชาลและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในข้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำของบุคคลดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป

 

โดยพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ได้รับแจ้งความและจัดรับคำร้องทุกข์ไว้แล้วจะได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป