'หมอระวี' จี้ 'เอนก' เคลียร์ให้ชัด ปม มสธ. ลงทุน-ยืมตัว ขัดกม.หรือไม่
'หมอระวี' จี้ 'เอนก' รมว.อว. เคลียร์ให้ชัด ปม มสธ.ลงทุน 5,500 ล้านบาท และ ยืมตัวอาจารย์จุฬาฯ มานั่งรักษาการ อธิการ มสธ. เกิน 180 วัน ขัดกม.หรือไม่ ชี้ย้อนแย้ง ไม่รอบคอบ รัดกุม หวั่นทำให้รัฐเกิดความเสียหาย
20 ก.พ. 2566 นพ.ระวี มาศฉมาดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้ทำหนังสือสอบถามและขอให้มีการตรวจสอบ ถึง ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตจกรรม (อว.)โดยเฉพาะการที่รัฐมนตรีกระทรวง อว.ได้มีการรับรอง การเอาเงินไปลงทุนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.)จำนวน 5,500 ล้านบาท ทำได้หรือไม่ จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวง อว.พิจารณา หารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญ ให้เกิดความชัดเจนเสียก่อน โดยมีข้อมูลที่สมควรพิจารณา ดังนี้
1.มสธ.เอาเงินไปลงทุนไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ มสธ.อ้างว่าตนมีอำนาจนำเงินไปลงทุนตามพรบ.มสธ. 2521 มาตรา 11 และมาตรา 12 แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วกลับพบข้อเท็จจริงว่า มาตรา 11 บัญญัติเพียงว่านอกจากเงินงบประมาณแล้ว เงินรายได้มสธ.มีประเภทอะไรบ้าง ส่วนมาตรา 12 บัญญัติว่าการจัดการทรัพย์สินของมสธ.ต้องทำเพื่อประโยชน์และตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
ทั้งสองมาตราที่มสธ.อ้างไม่มีข้อความใดระบุว่า “ให้มสธ.นำเงินไปลงทุนได้” รวมถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 438/2547 และหนังสือคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ ศธ 0592(2)2.27/ว1697 วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า “หน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายจะนำเงินไปลงทุนได้ ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ” ซึ่งย่อมหมายถึงมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า “ให้หน่วยงานของรัฐนำเงินไปลงทุนได้” มิใช่การนำมาตรา 12 ซึ่งมีข้อความเพียงว่าการจัดการทรัพย์สินของมสธ.ต้องทำเพื่อประโยชน์และตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย มาตีความขยายให้หมายความรวมถึง “การนำเงินไปลงทุน”
การวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้นย่อมเป็นบรรทัดฐานและต้องการให้หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของรัฐตีความอย่างเคร่งครัดว่าต้องมีข้อความระบุว่า “ให้หน่วยงานของรัฐนำเงินไปลงทุนได้ “มิใช่โดยวิธีใช้อำนาจตีความขยายผลตามอำเภอใจ
การนำเงินทุนของ มสธ.จำนวนมากถึง 5,500 ล้านบาทไปให้บริษัทเงินทุนจัดการกองทุนบริหารของ มสธ.ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับไม่ได้มาตั้งแต่ต้น บรรดาข้อบังคับต่าง ๆ ของมสธ. ที่ออกโดยอาศัยฐานอำนาจตามพ.ร.บ.มสธ. 2521 เมื่อขัดต่อเนื้อความของพ.ร.บ.มสธ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจออกข้อบังคับย่อมใช้บังคับไม่ได้
2.กรณีที่มสธ.มีเหตุอันควรสงสัยว่าตนนำเงินไปลงทุนได้หรือไม่ หาก มสธ.มีเหตุอันควรสงสัยว่าตนนำเงินไปลงทุนได้หรือไม่ เพราะเหตุใดมสธ.จึงไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยเพื่อให้ได้เป็นข้อยุติเสียก่อนตั้งแต่แรก การรีบร้อนและเร่งรัดนำเงินรายได้จำนวนมากของมสธ.ไปให้เอกชนจัดการน่าจะส่อให้เห็นถึงความลับและความดำมืดที่ซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อย
3.การที่ปรากฏเป็นข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. รับรองว่ามสธ.นำเงินไปลงทุน ทำได้ จะเป็นการกระทำจริงของรัฐมนตรีหรือเป็นการแอบอ้างชื่อ เป็นเรื่องที่กระผมไม่อาจทราบได้ หากเป็นกรณีการแอบอ้างชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ควรออกมาชี้แจงให้สาธารณะได้รับทราบว่าท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง ส่วนถ้าเป็นการรับรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ตามข่าว ก็น่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะรัฐมนตรีกระทรวง อว. มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำและความถูกต้องตามกฎหมายของมหาวิทยาลัย ข้อเท็จจริงในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ากระทรวงอว.ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้มาก่อน ทั้งยังมีข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลางที่( กค (กวจ)0405.2/057421 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2561
ซึ่งทางมสธ.เป็นผู้หารือไปเอง และกรมบัญชีกลางตอบกลับว่ามสธ.ย่อมที่จะขออนุญาตกระทรวงอว.ก่อนนำเงินไปลงทุน แต่มสธ.มิได้ดำเนินการ
เรื่องนี้กระผมเข้าใจว่ากระทรวง อว.น่าจะยังไม่ได้ตรวจสอบและวินิจฉัยใด ๆ อีกทั้งยังไม่ได้วินิจฉัยว่ามสธ.มีอำนาจนำเงินไปลงทุนตามพร.บ. มสธ.2521 ตามมาตรา 11 และมาตรา 12 ที่ทาง มสธ. กล่าวอ้างหรือไม่ การให้ข่าวสารในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. น่าจะต้องกระทำโดยรอบคอบ เพราะรัฐมนตรีกระทรวงอว.เป็นผู้รักษาการในกฎหมายแห่ง พ.ร.บ. มสธ. 2521 และอาจมีผลผูกพันตามกฎหมาย
4.การที่ มสธ. อ้างว่าส่งร่างสัญญาจ้างบริษัทเงินทุนจัดการกองทุนบริหารเงินลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบนั้น น่าจะเป็นการอ้างข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากปัจจุบันปรากฏหลักฐานเพียงสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งเรื่องการตรวจสัญญาระหว่างมสธ.กับบริษัทจัดการกองทุนคืนมา และส่งตัวอย่างสัญญาการลงทุนกับเอกชนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามาเป็นตัวอย่างให้แก่ มสธ. สำหรับกรณีมรภ.สงขลา อยู่ภายใต้พรบ.มหาวิทยาลัยราชภัฏคนละฉบับกับพรบ.มสธ. และเป็นกฎหมายมีเนื้อความเกี่ยวกับการนำเงินไปลงทุนแตกต่างจากมสธ. ประกอบกับการตรวจสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเพียงการตรวจสอบรูปแบบและเงื่อนไขของสัญญาที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชน มิใช่กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดให้การรับรองว่า มสธ.มีอำนาจนำเงินไปลงทุนได้ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในแถลงการณ์ของมสธ.
5.แถลงการณ์ของ มสธ.อ้างว่าการนำเงินไปลงทุนขณะนี้ได้กำไร 200 ล้านบาท แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ นำเสนอเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดจากการนำเงินไปลงทุน มิใช่การพิจารณาในประเด็นการมีอำนาจนำเงินไปลงทุนหรือไม่ อีกทั้งเป็นการกล่าวถึงเฉพาะผลดีเพื่อจูงใจผู้รับข่าวให้คล้อยตาม แต่ความจริงเป็นการนำเงินไปลงทุนมากถึง 5,500 ล้านบาท ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนผลกำไรแล้วคิดได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญการลงทุนภายนอกที่เป็นอิสระ อีกทั้ง มสธ.ยังปกปิดตัวเลขอื่นอีกมาก เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและเงินรายได้ที่มสธ.แบ่งให้กับบริษัทเงินทุน กระผมขอถามและให้ตรวจสอบว่ามสธ.ได้จ่ายเงินให้บริษัทเงินทุนจัดการกองทุนเป็นค่าบริหารเงินทุนไปจำนวนเท่าใด บริษัทดังกล่าวได้รับประกันเงินต้นตามเงื่อนไขของข้อบังคับว่าด้วยเงินรายได้และทรัพย์สินของมสธ.ในขณะที่มีการทำสัญญาครั้งแรกหรือไม่
6.มหาวิทยาลัยโดยทั่วไปบริหารโดยยึดหลักการแบ่งอำนาจ แต่ มสธ.รวบอำนาจ โดยมีเจตนาอะไรที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ มหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทยจัดโครงสร้างใหญ่ ๆ เป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ สภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย ส่วนที่สอง คือ ฝ่ายบริหาร ซึ่งมีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสูดของฝ่ายบริหารและทำงานประจำ แต่ขณะนี้ สภา มสธ.เข้ามาครอบงำทั้งด้านนโยบายและการบริหาร โดยแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาทำหน้าที่บริหารงานเป็นรักษาการอธิการบดีอย่างต่อเนื่องถึงสามคน และเข้ามาจัดการบริหารอย่างสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ผิดหลักการแบ่งอำนาจในการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งทำลายคุณธรรมในการปกครองมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและการที่ใครคนหนึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก็ย่อมเป็นคุณประโยชน์ที่ผู้นั้นได้กระทำแก่ส่วนรวมซึ่งควรค่าแก่การยกย่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าทำให้มหาวิทยาลัยตกอยู่ใต้อำนาจของคนผู้นั้นไปตลอดกาล มสธ.ควรตระหนักถึงสัจธรรมของการเปลี่ยนผ่านไปสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อฝึกหัดปฏิบัติผู้บริหารรุ่นใหม่และสร้างประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป
7.การยืมตัวข้าราชการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นรักษาการแทนอธิการบดี เป็นการเข้ามาโดยทำเรื่องขอยืมตัวของนายกสภามสธ. ซึ่งมิได้มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นต้นสังกัดของข้าราชการรายนี้ อนุญาตให้ยืมตัวได้บางเวลา จึงเป็นการให้ยืมตัวโดยมีเงื่อนไข แต่ก่อให้เกิดผลเสียแก่ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมสธ. กล่าวคือ ข้าราชการรายนี้ มาเป็นรักษาการแทนอธิการบดี ย่อมทำงานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ไม่เต็มเวลา ขัดต่อเงื่อนไขและข้อกำหนดของการเป็นข้าราชการที่ต้องอุทิศตัวให้กับหน่วยงาน
ขณะเดียวกัน กลับได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน่าจะได้ทบทวนว่าตนเสียประโยชน์จากการให้มสธ.ยืมตัวบุคลากรของตนหรือไม่ อีกทั้งน่าที่จะได้ทบทวนว่าสมควรที่จะให้ยืมตัวต่อไปหรือไม่ และต้องมีเงื่อนไขใดเพิ่มเติม เช่น การขอให้ ข้าราชการายนี้ ลาออกจากราชการไปชั่วคราว แล้วทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการทีหลัง
นอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียประโยชน์จากการใช้คนของตนไม่เต็มที่และเต็มตามศักยภาพแล้ว ฝ่ายมสธ.ก็เสียประโยชน์ เนื่องจากอธิการบดีเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่และความรับผิดชอบมากมาย ไม่อาจทำงานโดยการปฏิบัติงานไม่เต็มเวลาได้ การให้ ข้าราชการรายนี้ มาทำงานรักษาการแทนอธิการบดี มสธ. และจ่ายค่าตอบแทนให้ถึง 250,000 บาท(สองแสนห้าหมื่นบาท)ต่อเดือนเป็นการใช้เงินงบประมาณของมสธ.โดยไม่คุ้มค่า และไม่ชอบธรรม เพราะในกรณีการถอดถอนอธิการบดีบางคน เพียงแค่ลาไปเรียนวปอ.ยังเป็นเหตุให้สภา มสธ.มีมติถอดถอน ด้วยเหตุทำงานไม่เต็มเวลา
เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียประโยชน์ มสธ.เสียประโยชน์ ย่อมทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ไปด้วย สมควรที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ควรได้ตรวจสอบต่อไปว่า กรณีการยืมตัว ข้าราชการรายนี้ชอบด้วยหลักเกณฑ์และกฎหมายหรือไม่ เพราะกรณีปรากฏชัดว่ามิได้ทำเรื่องขออนุมัติจากปลัดกระทรวง อว. อีกทั้งเป็นกรณีที่ยืมตัวข้าราชการไปช่วยราชการเกิน 180 วัน แล้วด้วย รวมทั้งน่าจะแจ้งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทบทวนต่อไป