ข่าว

กว่าครึ่งศตวรรษ ‘ม.รามคำแหง’ ตลาดวิชา ค่าหน่วยกิตถูกที่สุดในโลก

กว่าครึ่งศตวรรษ ‘ม.รามคำแหง’ ตลาดวิชา ค่าหน่วยกิตถูกที่สุดในโลก

21 ก.พ. 2566

กว่าครึ่งศตวรรษ ‘ม.รามคำแหง’ ตลาดวิชา ค่าหน่วยกิตถูกที่สุดในโลก กำลังเผชิญมรสุม เกิดศึกชิงอำนาจ ผลประโยชน์มหาศาล หวั่นละเลยมาตรฐานสังคมไทย ส่งผลระทบนักศึกษาเรือนแสน พนักงานเกือบอีก 5,000 ชีวิต ไร้ทิศทาง?

มหาวิทยาลัยรามคำแหง (Ramkhamhaeng University ) มร./RUได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ณ บริเวณที่ดินทั้งหมดประมาณ 300 ไร่เศษ ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514 กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบ ตลาดวิชา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง


หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเปิด ม.รามคำแหง เพื่อรองรับจำนวนผู้เรียนจำนวนมากที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรที่มีอัตราการเกิดเป็นหลักล้านคนต่อปี

 

ความพิเศษของ รามคำแหง เป็น มหาวิทยาลัย ในประเทศไทยเพียงไม่กี่แห่งที่ใช้ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เป็นที่ขับเคลื่อนและวางแผนก่อนจะเปิดการเรียนการสอน

 

สมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ปรากฏว่า รศ.ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ได้รับการแต่งตั้งโดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2513 ให้เป็นประธานใน “คณะกรรมการเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหง” พร้อมคณะกรรมการเตรียมการฯ ท่านอื่นๆ อีก 7 ท่าน ทำหน้าที่เตรียมการจัดตั้งม.รามคำแหงในด้านต่างๆ เพื่อให้ทันการเปิดในปีการศึกษา 2514

 

คณะกรรมการเตรียมการฯ ที่มี รศ.ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ เป็นประธาน ได้เสนอต่อรัฐบาล ขอใช้ที่ดินและอาคารต่างๆ ในสถานที่แสดงสินค้านานาชาติ ของกรมเศรษฐสัมพันธ์ กระทรวงเศรษฐการ  หรือ ปัจจุบันคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นสถานที่ตั้งชั่วคราว และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)จึงได้เริ่มปรับปรุงสถานที่และใช้หอประชุม A.D.1 (Auditorium1) เป็นสถานที่ทำงานของสำนักงานอธิการบดี นับเป็นสถานที่ทำงานแห่งแรกของม.รามคำแหง

 

มีนาคม 2514 ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งแรก ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มี จอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน โดยได้รายงานผลการเตรียมการฯ ให้ที่ประชุมรับทราบ
กว่าครึ่งศตวรรษ ‘ม.รามคำแหง’ ตลาดวิชา ค่าหน่วยกิตถูกที่สุดในโลก

รศ.ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์  อธิการบดี ม.รารมคำแหง คนแรก

 

ประชุมสภาม.รามคำแหงในครั้งนั้น มีวาระสำคัญคือ การแต่งตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกและเสนอให้แต่งตั้ง

  1. นายศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี
  2. นายไพบูลย์ สุวรรณโพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะบริหารธุรกิจ
  3. นายสง่า ลีนะสมิต ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์
  4. นายอภิรมย์ ณ นคร รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์
  5. นายอุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์
  6. นายธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล

 

4 มิถุนายน 2514 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 88 ตอน 59 ฉบับพิเศษ หน้า 5 และรศ.ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2516

ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

ม.รามคำแหง ตลาดวิชา ราคาถูก

มหาวิทยาลัยเปิดของรัฐแห่งนี้ ผลัดเปลี่ยนอธิการบดี และนายกสภามหาวิทยาลัย มาหลายครั้ง ในยุคแรกๆ แม้มีข้อขัดแย้งช่วงชิงอำนาจระหว่างคณะรัฐสาสตร์ กับ คณะนิติศาสตร์ แต่กลไกการจัดการศึกษายังขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายวิทยาเขตกระจายทั่วประเทศไทยรวมถึงใน23ประเทศ ด้วยค่าหน่วยกิตที่ถูกที่สุดในโลกจากเริ่มต้นที่หน่วยกิตละ 18 บาท และขยับเพิ่มเป็นหน่วยกิตละ 25 บาท มากว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน

 

การไขว่คว้าเพื่อได้ปริญญามาเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล ไม่ไกลเกินฝันของครอบครัวคนไทยระดับฐานราก เมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดกว้างรับคนเข้าเรียนแบบไม่จำกัดจำนวน สามารถเรียนแบบออนไลน์ หรือ เรียนออนไซต์ ได้

 

หลักสูตรเปิดกว้างแต่ครอบคลุม ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ที่สามารถเรียนรู้คู่ทำงาน ทำให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งนี้ กลายเป็นจุดหมายปลายทางของคนยากจนที่ฝันอยากคว้าใบปริญญา แม้วันเวลาเปลี่ยน จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนในแต่ละปีกว่าครึ่งแสน ไม่นับรวมที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วจำนวนหลายล้านคน กระจายอยู่ทุกองค์กรภาครัฐ-เอกชน

 

แม้ในอดีตช่วงเวลาความยากลำบากของม.รามคำแหง ที่มีความเห็นต่างระหว่างการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) หรือ มหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ด้วยพระบารมีของสถาบันฯ  มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงอยู่เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแบบตลาดวิชา เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้เรียนปริญญาในราคาแสนถูก

 

แหล่งวิชาการสร้างคนจน ถึงวันนี้อายุกว่าครึ่งศตวรรษ มีพนักงาน หรือ เจ้าหน้าที่ 4,000-5,000 คน หากเทียบภาคเอกชน นับเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แต่ความขัดแย้งของฝ่ายบริหารสูงสุดขององค์กร อธิการบดี กับฝ่าย สภามหาวิทยาลัยได้สร้างความอลเวงวุ่นวายให้กับฟันเฟืองเหล่านี้ที่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นอย่างยิ่ง

 

ว่ากันว่า ความขัดแย้งมีมูลมาจากผลประโยชน์จำนวนมหาศาล หรือไม่นั้น สังคมไทยย่อมรับรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายพึงตระหนัก มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นสมบัติของแผ่นดินไทย ผดุงประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อใคร หรือเป็นสมบัติของใคร

 

หยุดทะเลาะกัน ย้อนมาให้ความสำคัญที่นักศึกษา ผลประโยชน์ของผู้เรียน ส่งต่อผลประโยชน์เพื่อชาติ อย่าลืมว่าผู้ใหญ่ทะเลาะกันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน 

 

การโต้ตอบกันไปมา โดยไม่ยึดข้อกฏหมาย เพื่ออ้างสิทธิ์ หรือช่วงชิงอำนาจกัน มีแต่จะทำให้ทุกอย่างพัง กระทบชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเมื่อต่างฝ่ายต่างมีสุดยอดนักกฏหมายเป็นที่ปรึกษา เป็นครูของครู  ระดับอาจารย์นักกฏหมาย

 

ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ควรเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง ได้จดจำแต่สิ่งดีๆ อย่าลืมมาตรฐานของสังคมไทย ไม่ว่าคุณจะใหญ่มาจากไหน หรือ เป็นใคร ควรเคารพกฏหมาย มิใช่หรือ!!!

บัณฑิตลูกพ่อขุน ทำงานในทุกภาคส่วนของรัฐ-เอกชน

ขอบคุณภาพ : เพจจดหมายเหตุดิจิทัล มหาวิทยาลัยรามคำแหง

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง