ศาลปกครองย้ำ ‘สืบพงษ์’ คงสถานะ อธิการบดี ม.รามคำแหง
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอ ‘สืบพงษ์’ ให้บังคับ ‘สภา มร.’ ปฎิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ศาลย้ำ สืบพงษ์ ยังคงสถานะ อธิการบดี ม.รามคำแหง แนะหากได้รับความเสียหายให้ใช้สิทธิทางกฎหมายแยกเป็นอีกกรณี
21 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอให้บังคับตามคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ บ.362/2565 ระหว่างผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 1 ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2 นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 3 และผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งบังคับตามคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย อันมีผลทางกฎหมายให้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
รวมทั้งคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 119/2565 เรื่อง ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 120/2565 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่แต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกทุเลาการใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงยังคงมีสถานะทางกฎหมาย อำนาจ และหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงวันที่ 14 กันยายน 2564 ดังเดิม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาเป็นอย่างอื่น
กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลต้องบังคับตามคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
ส่วนกรณีหากผู้ฟ้องคดี เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลาง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องไปว่ากล่าวใช้สิทธิตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ แยกต่างหากเป็นอีกกรณีต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดี