ข่าว

เผือกร้อน สส./สว. ปมปิดฉาก ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษา’ ฉบับใหม่

เผือกร้อน สส./สว. ปมปิดฉาก ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษา’ ฉบับใหม่

21 ก.พ. 2566

มหากาพย์ว่าด้วย ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษา’ ฉบับใหม่ ค้างเติ่งอยู่ในสภา เมื่อ สส./สว. ปล่อยมือเผือกร้อน หวั่นกระทบฐานเสียงครูในการเลือกตั้ง66

ค่อนข้างชัดเจน มหากาพย์ว่าด้วย ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ใช้เวลายกร่างยาวนานกว่า 5 ปี คงจบลงด้วยร่างกฎหมายค้างเติ่งอยู่ในสภาต่อไป

 

เหตุเพราะมีเนื้อหาถึง 128 มาตรา ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระสองไปได้แค่ สามนัด วันที่ 10 มกราคม  วันที่ 24 มกราคม 2566 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เพิ่งผ่านไปได้ 16 มาตรา และ เหลืออีก 112 มาตรา จะปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้

 

ขณะที่สภาผุู้แทนราษฎรจะครบวาระ 4 ปีวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับ พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาต้นเดือนมีนาคม ทำให้ร่างกฎหมายทุกฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาก็ต้องยุติลงโดยปริยาย

 

ร่างพ.ร.บ.การศึกษา จัดได้ว่า ่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมากกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหนึ่งแผนเต็มๆ และเป็นภาคบังคับตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หมวดการปฏิรูปประเทศ

 

การที่ร่างกฎหมายเป็นหมัน ไช่ว่าจะสูญเปล่าไปทั้งหมด เพราะรัฐบาลสมัยหน้าสามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการต่อได้ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนตลอดจนคนทุกฝ่าย

 

รัฐบาลพยายามคุยแล้วคุยอีกถึงผลงานสองเรื่อง ว่าเป็นผลสำเร็จของนโยบายปฏิรูปการศึกษา คือการมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กับเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่นั่นเป็นกฎหมายลูก ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสทางการศึกษากับปัญหาการขาดความคล่องตัวของสถานศึกษา

องค์กครู รวมพลังคัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษา

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเดิม เมื่อ ปี 2542 ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับแก้ไข แต่เนื้อหาสาระของร่าง.พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านและองค์กรครูมองว่า ล้าหลัง รวมศูนย์อำนาจ ไม่ไว้วางใจครู

 

เพื่อทำให้หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาถูกจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง จำเป็นต้อง ปฎิรูปกระบวนการเรียนการสอน  ปฏิรูปครู ปฏิรูปหลักสูตร และปฏิรูปการวัดและประเมินผล ซึ่งต้องกำหนดเอาไว้ในกฏหมายแม่บทด้านการศึกษา

 

5 ปีของการเดินทาง ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ส่วนหนึ่ง  มีเสียงคัดค้านจาก สส.พรรคเพื่อไทย สส.พรรคก้าวไกล  และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ประสานเสียงกันในช่วงการประชุมร่วมรัฐสภา

 

เหนืออื่นใด ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ กลายเป็นเผือกร้อน อาจจะกระทบฐานเสียงครู ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 หากพรรคร่วมรัฐบาลและสว.ยังยืนกรานจะเข็นให้ผ่านสภาโดยไม่มีการปรับแก้ไขตามที่ครูเรียกร้อง

 

"กรรมาธิการ 49 คนเพื่อไปร่วมกันปรับปรุงแก้ไขจุดออ่น ร่างพ.ร.บ.การศึกษา เพิ่มข้อดีให้เกิดความสมบูรณ์ หรือ บกพร่องน้อยที่สุด แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากที่เป็นสส.พรรคร่วมรัฐบาล และสว.ยืนกรานไม่ยอมปรับแก้ไข เลยเจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้ร่างกฎหมายสำคัญนี้มีอันเป็นไป อย่างน่าเสียดาย" รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกต

เผือกร้อน สส./สว. ปมปิดฉาก ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษา’ ฉบับใหม่

ครู แต่งชุดดำคัดค้านการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

 

.....กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง....