ข่าว

พิรุธ ‘มสธ.’ ยืมตัวข้าราชการทิพย์ ‘อว.’ ไร้การตรวจสอบ

พิรุธ ‘มสธ.’ ยืมตัวข้าราชการทิพย์ ‘อว.’ ไร้การตรวจสอบ

22 ก.พ. 2566

พิรุธ ‘มสธ.’ ยืมตัวข้าราชการทิพย์ ‘อว.’ ไร้การตรวจสอบ ให้รอบคอบและรัดกุมอย่างเพียงพอ อาจจะเกิดความเสียหายกับมหาวิทยาลัยในฐานะส่วนราชการ ใครรับผิดชอบ?

แม้ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(รมว.อว.) ออกตัวอย่างแรงว่าเห็นชอบที่นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(นายกสภา มสธ.)ยืมตัว รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา คณะนิตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดำรงตำแหน่ง รักษาการ อธิการบดี มสธ.

แต่ความจริง อาจเป็นเพียง การยืมตัวข้าราชการทิพย์ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่มีการยืนยันที่เป็นเอกสารราชการแต่ประการใด โดยเฉพาะคำสั่งให้มาปฏิบัติราชการจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดอว. 

 

หากไม่มีคำสั่งทางราชการ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะอาจเกิดความเสียหายกับมหาวิทยาลัยในฐานะส่วนราชการระดับกรม ที่สังกัดกระทรวงอว.

 

พิรุธ 4 ข้อ ‘มสธ.’ ยืมตัวข้าราชการทิพย์

ว่ากันว่า นายกสภา มสธ. ยืมตัว รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ในครั้งนี้ เจ้ากระทรวงอว. และ ปลัดอว. อาจจะไม่ตรวจสอบให้รอบคอบและรัดกุมอย่างเพียงพอ ประเมินจากความไม่สอดคล้อง ดังนี้

 

1.ปลัดอว. ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เหตุใดจึงไม่มีการตรวจสอบ การยืมตัวข้าราชการรายนี้ ไม่มีการสั่งการหรือชี้แจงใดๆเลย ปล่อยให้การยืมตัวทิพย์เกิดขึ้น

 

2.มสธ.ยอมรับว่า นายกสภา มสธ. เป็นผู้ขอยืมตัวข้าราชการรายนี้ไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งๆที่นายกสภาไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการ เท่ากับว่าไม่มีอำนาจในการสั่งการใดๆและมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร ถึงไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ตามกฎหมาย

 

3.เหตุใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงอนุญาตไม่ทบทวนตรวจสอบและกำหนดระยะเวลา การยืมตัวให้ชัดเจนเพราะจนถึงวันนี้เกิน 180 วันแล้ว รวมถึงการรับเงินเดือนเต็มจำนวน และทำงานไม่เต็มเวลา กล่าวคือทำงานบางเวลาได้ 2 ที่และรับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนเต็ม ได้ทั้ง 2 ทาง กรณีเช่นนี้จะเป็นตัวอย่างให้ถือปฏิบัติได้ใช่หรือไม่ มีความคุ้มค่าอย่างไรและมสธ.มีระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานบางเวลาหรือไม่

 

4.ตามขั้นตอนการยืมตัวข้าราชการที่สำคัญที่สุดคือ ปลัดอว.ต้องเป็นผู้อนุมัติคำสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นมาปฏิบัติราชการที่มสธ.จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แวว แล้วการมาปฏิบัติราชการของข้าราชการรายนี้จะถือว่าเป็นการบริหารที่ปราศจากอำนาจที่ไม่มีคำสั่งจากปลัดอว.หรือไม่

 

ก็ทำงานมา1 ปี 4 เดือนกว่าแล้ว ยังรับค่าตอบแทนเต็มจาก มสธ.ทั้งที่ทำงานเพียงบางเวลา และยังไปเรียนหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไปช่วยงานกระทรวงอว.ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอีกด้วย

 

แต่ก็แปลกดีนะที่ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไม่หือไม่อือ ยอมรับสภาพไปวันๆ สะท้อนถึงคุณภาพการปกป้องรักษา มหาวิทยาลัย ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง