ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา สรรหา ‘อธิการบดี มสธ.’ ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ชี้การสรรหา ‘อธิการบดี มสธ.’ ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ รศ.ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ผู้ชนะการสรรหา ผงาดนั่งอธิการบดีได้
หลังจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)ว่างเว้นตำอหน่ง อธิการบดี มสธ. ตัวจริงมากว่า 6 ปีแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้มีการอ่านคำพิพากษากรณีเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีประเด็นที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.ประเด็นประธานกรรมการสรรหาอธิการบดีมีคุณสมบัติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของประธานกรรมการสรรหาอธิการบดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
2.ประเด็นกระบวนการสรรหาอธิการบดี มสธ. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการดำเนินการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยทุกประการ โดยไม่ปรากฏข้อบกพร่องใดๆเกี่ยวกับองค์ประกอบและความไม่เป็นกลาง เป็นการดำเนินการตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
3. ประเด็น รศ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับถูกต้องทุกประการ กระบวนการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีจึงชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งรศ.ดร.วรรณธรรมก็มิได้มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รวมทั้งกระบวนการคัดเลือกอธิการบดีได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย
กล่าวโดยสรุปได้ คือการที่มีมติเลือกรศ.ดร.วรรณธรรมเป็นผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
นับจากนี้ต่อไปสิ่งที่สังคมและประชาคมชาวมสธ.ให้ความสนใจ คงต้องมุ่งเป้าไปที่นายกสภามหาวิทยาลัยมสธ.ว่าจะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ หรือจะมีการเสนอคำพิพากษาดังกล่าวให้ที่ปรึกษาทางกฎหมายพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการประวิงเวลาเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น
และหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นจริง ทางด้าน ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คงจะต้องเยียวยาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน เนื่องจาก รมว.อว.ได้รับรองว่า กรณี “อธิการบดี มสธ.” จะต้องมีคำพิพากษาของศาลตัดสินก่อน เมื่อมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้แล้ว รมว.อว.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป