ข่าว

เปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ดึง 'มหาวิทยาลัย’ เป็นฐานข้อมูลสารสนเทศ

เปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ดึง 'มหาวิทยาลัย’ เป็นฐานข้อมูลสารสนเทศ

07 มี.ค. 2566

เปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม เน้นภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลัก เพิ่มแรงจูงใจทางภาษี ดึงเอกชน ‘มหาวิทยาลัย’ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลสารสนเทศ ทำวิจัย ต่อยอด พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

7 มี.ค. 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิดไตรภาคีศิลปวัฒนธรรม ของ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะ

 

จากรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวของ กมธ. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลในภาพรวม เพื่อนำเสนอ ครม.

 

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้ว เห็นด้วยกับภาพรวมของรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม ของ กมธ. และมีความเห็นเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น ได้แก่

  1. รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม 
  2. แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาใช้ประโยชน์ 
  3. ผลกระทบจากการนำทุนวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมมาใช้ประโยชน์ผ่านการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม
  4. ผลการทบทวน วิเคราะห์ กฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม

 

สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขและเพิ่มเติมร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นสรุปประเด็น ดังนี้ 

  1. ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพหลักในการเพิ่มความเข้มแข็งของกลไกไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมระดับพื้นที่ 
  2. กรมสรรพากร ควรเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม และสนับสนุนงบประมาณให้กับการขับเคลื่อนไตรภาคีศิลปวัฒนธรรมระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น 
  3. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรกำหนดแนวทาง การบริการชุมชนให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลสารสนเทศ ทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอด พัฒนาพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ตลอดจนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวัฒนธรรม ผู้ประกอบการวัฒนธรรม หรือการบริการทางวัฒนธรรมผ่านหน่วยงาน 
  4. ควรมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล อบต.) ร่วมดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมของประชาชนท้องถิ่นและเมือง รวมทั้งในพื้นที่โบราณสถานได้โดยสะดวก

 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

  1. การส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนาของทุกศาสนา 
  2. การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 - 2565) 
  3. การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และเปิดพื้นที่กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม 
  4. การสร้างสรรค์อัตลักษณ์วัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
  5. การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการอนาคต เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) 
  6. การจัดทำแผนระดับที่ 3 เพื่อสนับสนุนรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการเปิดภูมิพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม
  7. การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรม ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 
  8. การขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570