‘ธรรมศาสตร์’ ปั้น ‘ตลาดนัด - พื้นที่ธุรกิจ’ จุดประกายนักศึกษา - รับใช้ชุมชน
ส่องกลเม็ด 'มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ปั้น ‘ตลาดนัด - พื้นที่ธุรกิจ’ จุดประกายนักศึกษา - รับใช้ชุมชน ธำรงบทบาทการเป็น ‘เสาหลัก’ ให้กับสังคม และเป็นแสงสว่างให้กับประชาชน
ท่ามกลางความผันผวน ความไม่แน่นอน และความคลุมเครือของโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการจำกัดความในภายหลังว่า VUCA เรียกร้องให้ ‘มหาวิทยาลัย’ ต้องธำรงบทบาทการเป็น ‘เสาหลัก’ ให้กับสังคม และเป็นแสงสว่างให้กับประชาชน
สอดรับกับแนวคิดการศึกษาเชิงผลิตภาพ หรือ ‘มหาวิทยาลัย 4.0’ ที่มหาวิทยาลัยในฐานะคลังทรัพยากร ทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย กำลังคน งบประมาณ สถานที่ อาณาบริเวณ ฯลฯ จะต้องนำทรัพยากรเหล่านั้นออกมา ‘ตอบสนอง’ ความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) ในระดับประเทศ
ด้วยปณิธานการเป็น ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’ และด้วยการตั้ง ‘ตัวชี้วัด’ ของทุกนโยบายให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทำให้บทบาทของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นาทีนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ควรค่าแก่การนำมาบอกต่อ
เพราะความเรียบง่ายคือคำตอบ ดังนั้นแม้ว่าเป้าหมายข้างต้นจะดูเป็นสากลและสอดคล้องกับยุคสมัยเพียงใด หากแต่สิ่งที่ ‘ธรรมศาสตร์’ ได้ริเริ่มดำเนินการกลับเป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าไม่ได้หวือหวาอะไร ทว่าสามารถเชื่อมร้อยกับชุมชนได้อย่างกลมเกลียว
ธรรมดาแค่ไหนถึงควรค่าแก่การกล่าวขวัญถึง มาดูกัน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการ ‘1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล’ ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขันอาสารับหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ 3 ตำบลของ จ.ปทุมธานี ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย
พื้นที่มากกว่า 600 ไร่ ภายใต้การบริหารจัดการของ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. จึงได้รับการจัดสรรเป็นสัดส่วน โดยตั้งต้นจากการให้ความสำคัญกับนักศึกษาเป็นอันดับแรก พร้อมๆ ไปกับการเชื่อมต่อมหาวิทยาลัยเข้ากับชุมชน
ธรรมศาสตร์เลือกที่จะใช้ ‘ตลาด’ เป็นเครื่องมือในการผสานความร่วมแรงร่วมใจระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชุมชน โดยได้จัดตั้งตลาด ‘ตลาดนัดอินเตอร์โซน’ และ ‘เชียงรากมาร์เก็ต’ ขึ้นในมหาวิทยาลัย ในรูปแบบตลาดช่วงเย็น รวบรวมของอร่อย สินค้าสไลฟ์สไตล์ แลtเปิดกว้างพื้นที่กิจกรรม โดยที่มาสินค้าในตลาดนั้นเป็นการชักชวนชุมชน-เครือข่ายเกษตรกรใน จ.ปทุมธานี เข้ามาตั้งแผงขายสินค้า ทั้งผักสด ผลไม้ปลอดภัย เนื้อสัตว์อนามัย รวมถึงสินค้าอุปโภค บริโภค มากมาย ท่ามกลางความสนใจของลูกค้าที่หมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 3.5 หมื่นราย
นายภูวดล สิริชัยสินธพ ผู้จัดการฝ่ายบริหารพื้นที่ธุรกิจ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. เล่าว่า จากเดิมที่มีเพียงตลาดนัดอินเตอร์โซนซึ่งเป็นตลาดช่วงเย็นวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เปิดบริการเพียง 2 วัน / สัปดาห์ ในปัจจุบันเราพัฒนาเชียงรากมาร์เก็ต ช่วงเย็นวันอังคารและวันพุธ ให้สามารถเปิดบริการตลาดนัดได้ 4 วัน/สัปดาห์ และจะเพิ่มเป็นทุกวันในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งผู้ซื้อและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งสินค้าที่วางขายในตลาดเชียงรากมาร์เก็ตนั้น เป็นสินค้าที่มาจากนักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ผักสวนครัวปลอดสารพิษจากฟาร์มยั่งยืนที่มีจำหน่ายให้กับประชาคมธรรมศาสตร์ในราคาย่อมเยาว์ ‘ฟาร์มยั่งยืน’ เป็นการพัฒนาทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยสร้างการหมุนเวียนทรัพยากรภายในมหาวิยาลัยมีการทำปุ๋ยจากเศษใบไม้ กิ่งไม้ เพื่อนำมาใช้ในการเกษตร และต่อยอดการปลูกผัก ดูแลต้นไม้ แบ่งขาย ไปจนถึงกระจายผลผลิตไปยังโรงอาหารของมหาวิทยาลัย โดยแนวคิดนี้มาจาก มธ. ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ซึ่งถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และธรรมศาสตร์ก็ต้องการที่จะดูแลชุมชนโดยรอบเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน
เมื่อตลาดคือผู้คน พื้นที่เปล่าๆ จึงกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา เกิดการใช้ชีวิต เกิดเศรษฐกิจฐานราก สามารถสร้างและหมุนเวียนรายได้กลับสู่ชุมชน หนำซ้ำยังก่อกำเนิดเป็น ‘รายได้’ ให้แก่นักศึกษาโดยตรง หรืออาจกล่าวได้ว่าเชียงรากมาร์เก็ต คือตลาดสำหรับทุกคน (Market For All)
“ถ้าพูดว่าเชียงรากมาร์เก็ตมีกลิ่นอายของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายของรัฐบาลก็คงไม่เกินความจริง” นายภูวดล ระบุ
แน่นอนว่า เมื่อมีผู้คนก็ย่อมมีความต้องการที่มากขึ้น จากพื้นที่ตลาดเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพออีกต่อไป มธ.จึงพัฒนาแนวทางการบริหารพื้นที่ธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางการคัดสรรผู้ประกอบการให้เป็นตามความต้องการของประชาคม มีร้านค้าแบรนด์ชั้นนำซึ่งโดยเริ่มมาจากการสำรวจความต้องการของนักศึกษา บุคลากร ผู้อยู่อาศัย ก่อนเข้ามาเปิดจำหน่าย
“สินค้าและบริการที่เข้ามาเปิดในมหาวิทยาลัยนั้น จะต้องเริ่มมาจากความต้องการของนักศึกษาเป็นลำดับแรก เช่น ทางเลือกระหว่างการเปิดร้านกาแฟกับตู้กาแฟอัตโนมัติ ซึ่งนักศึกษาก็ลงความเห็นว่าต้องการ ‘ตู้’ มากกว่า เพราะมีความต้องการดื่มที่ไม่จำกัดเวลา ทั้งที่ผลตอบแทนที่มหาวิทยาลัยจะได้รับจากร้านกาแฟมีจำนวนที่มากกว่า แต่สุดท้ายเราก็เลือก ‘ตู้กาแฟอัตโนมัติ’ เข้ามาเติมเต็ม เพราะเป็นเสียงของนักศึกษา” นายภูวดล ระบุ
นอกเหนือจากแนวทางการทำธุรกิจแล้ว มหาวิทยาลัยยังจัดทำข้อตกลงให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ต้องจ้างงานนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีรายได้พิเศษจากงาน Part Time ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือนักศึกษาจะได้เพิ่มพูนทักษะการทำงาน เข้าใจระบบ ได้รับการเทรนนิ่งจากบริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่
ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารชื่อดังที่เข้ามาเปิดสาขาในมหาวิทยาลัย ก็มีนโยบายส่งนักศึกษา Part Time ไปเทรนนิ่งที่สำนักงานใหญ่ โดยนักศึกษาจะได้เปิดประสบการณ์กับหน้างานในแผนกอื่นๆ และยังมีโอกาสได้งานทำทันทีที่จบการศึกษา
อย่างที่กล่าวในข้างต้น บทบาทมหาวิทยาลัยทุกวันนี้มีมากกว่าการผลิตบัณฑิตและให้บริการวิชาการ หากแต่คือการเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนและโลก ซึ่งธรรมศาสตร์ก็ได้ผูกโยงตัวเองเข้ากับ SDGs และความเป็นสากล โดยแสดงออกผ่านนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็น ‘ความหลากหลายและเสมอภาคทางเพศ’ ที่สามารถแสดงออกได้ทั้งผ่านการแต่งกายของนักศึกษา การสร้างห้องน้ำ ALL Gender หรือการให้ความสำคัญ ‘เพื่อคนทั้งมวล’ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งแสดงออกผ่านการปรับปรุงอาคาร-สถานที่-หอพักนักศึกษา ทุกตารางนิ้วตามหลักการ Universal Design ผู้พิการสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น เบรลล์บล็อก (Braille Block) สำหรับผู้พิการทางสายตา ทางลาดทุกพื้นที่ ลิฟต์ระบบเสียงและรองรับอักษรเบรลล์ ฯลฯ
ทั้งหมดเป็นเพียงบางช่วงบางตอนของเรื่องราวธรรมดาๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำ และสามารถจุดประกายนักศึกษา ควบคู่ไปกับการรับใช้สังคม ชุมชน และเชื่อมต่อกับความเป็นสากล ได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว