เปิดรายชื่อ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 จาก 11 ประเทศ
คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พิจารณาเห็นชอบการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 จาก 11 ประเทศ ส่วนไทย ‘ครูนิวัฒน์’ คว้ารางวัลนี้ เป็นครูนักพัฒนา มากว่า 21 ปี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปในการประชุมสามัญ ประจำปี 2565 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ คือการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นรางวัลนานาชาติ ที่จัดมอบให้แก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาในประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต รวม 11 คน ทุก ๆ 2 ปี
ครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศ
โดยพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้น ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ครูที่ได้รับพระราชทานรางวัล จาก 11 ประเทศ ได้แก่
- เนการาบรูไนดารุสซาลาม ครูโมฮัมหมัด อาเมียร์ อิรวาน บิน ฮาจิมุกซิน
- ราชอาณาจักรกัมพูชา ครูเฮ ชาคริยา
- สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ครูฮาริสดายานิ
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครูกีมเฟือง เฮืองมะนี
- ประเทศประเทศมาเลเซีย ครูไซฟุลนิซาน เจ๊ะ อิสมาอิล
- สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ครูดอว์ เอ ซู วิน
- สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ครูเจอร์วิน โอ. วาเลนเซีย
- สาธารณรัฐสิงคโปร์ ครูชอง หลวน เพนนี
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ครูฟิโลมีนา ดา คอสตา
- สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ครูเหงียน หมั่น หุ่ง
- ประเทศไทย ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข
‘ครูนิวัฒน์’ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
ส่วนประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาดำเนินการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระหว่างปี 2565-2566
โดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 77 จังหวัด และองค์กรที่มีรางวัลระดับประเทศ 7 องค์กร ซึ่งพิจารณาให้ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านมอโก้คี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และทำหน้าที่ครูนิเทศก์ ใน 5 ศูนย์การเรียน และห้องเรียนสาขาที่บ้านมอโก้ใหม่ อ.ท่าสองยาง
ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ได้จัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยในชุมชน ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการทำลายป่า ส่งเสริมการปลูกกาแฟครบวงจร และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ครูบนดอยสูงกว่า 21 ปี
ครูนิวัฒน์ อุทิศทั้งชีวิตของการเป็นครูบนดอยสูง มากกว่า 21 ปี และบุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” 5 แห่ง ซึ่งแต่ละศูนย์อยู่ห่างกัน 7-10 กิโลเมตร ด้วยความมุ่งมั่นว่า “อยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยให้ความรู้ที่จะติดตัวนักเรียน ไปตลอดจนหมดลมหายใจ”
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังพิจารณามอบรางวัลคุณากร จำนวน 2 ราย คือ ครูอุดร สายสิงห์ ครูผู้เป็นที่รักและศรัทธายิ่งของศิษย์ผู้ปกครอง และชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ โรงเรียนบ้านโกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา และครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูยุคใหม่ผู้สร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อการรักถิ่น เน้นความมีตัวตนและความสำเร็จของเด็กทุกคน ปฏิบัติหน้าที่ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม อ.เมือง จ.ตราด
เพิ่มครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีอีก 3 ประเทศ
ที่ประชุมได้เพิ่มประเทศเพื่อเสนอชื่อครูเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในครั้งที่ 6 ปี 2568 อีก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ ภูฎาน และมองโกเลีย เป็นประเทศที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีโครงการตามพระราชดำริด้านการศึกษา
อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายครูรางวัล อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการสะกด พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย เพื่อเด็กในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยความร่วมมือของสภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนที่นักเรียน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านระบบอาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน การใช้สื่อและกลไกสนับสนุนในระดับพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีพลังครูและอาสาสมัครใน 14 จังหวัดทดลองนำร่อง ครอบคลุมโรงเรียนเป้าหมาย 1,619 แห่ง