ข่าว

เมินคำสั่งศาล 'สภา มสธ.' ดื้อแพ่ง! ยื้อเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 'อธิการบดี'

เมินคำสั่งศาล 'สภา มสธ.' ดื้อแพ่ง! ยื้อเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 'อธิการบดี'

19 เม.ย. 2566

6 ปีที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนี้ ไร้ผู้นำฝ่ายบริหารตัวจริง และเกือบ 60 วันหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น การสรรหาชอบด้วยกฏหมาย แต่ 'สภา มสธ.' ดื้อแพ่ง! ยื้อเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 'อธิการบดี' โยน อว. ชี้ขาด

สู่ปีที่ 6 ที่มหาวิทยาลัยเปิดของรัฐแห่งนี้ ไร้ผู้นำฝ่ายบริหารตัวจริง แม้ภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาคดีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ “อธิการบดี มสธ.” เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 ที่มีผลทำให้ “รศ. ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ” เป็นว่าที่อธิการบดี มสธ.คนใหม่ หากแต่เกือบ 60 วันแล้วยังไร้วี่แวว เกิดอะไรขึ้น!!

ถึงแม้ว่าการประชุม “สภา มสธ.” ครั้งที่ 4/2566 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ที่ประชุมมีมติให้ส่งเรื่องการพิจารณาดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าแต่งตั้ง “อธิการบดี มสธ.” ให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พิจารณาแล้ว เท่ากับว่าสภามสธ.ไม่ขัดข้อง เสนอชื่อ รศ.ดร.วรรณธรรม เป็น อธิการบดี มสธ. ฟังดูเข้าท่าดี

 

แต่เกิดอะไรขึ้น? ทำไม “สภา มสธ.” ต้องตั้งคำถามโยนไปที่กระทรวงอว.อีก ว่าสามารถโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี มสธ.ได้หรือไม่? โดยอ้างว่าเพราะยังมีคดีถอดถอนอธิการบดีคนเดิมยังไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ในขั้นตอนการกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอีกคดีหนึ่ง

 

เกิดคำถามว่าถ้าคดีถอดถอนไม่แล้วเสร็จ หรือศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้พิพากษาให้ถึงที่สุด “สภา มสธ.” จะนำเสนอโปรดเกล้าแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ได้อย่างไร? 

 

เป็นวาทกรรมเดิมๆ ที่ชอบอ้างเขียนว่า ในกรณีมีการถอดถอนอธิการบดีก่อนหมดวาระ ต้องเสนอโปรดเกล้าก่อน ฝ่ายกฎหมายเหมือนพยายามให้ยืดเยื้อ ทั้งๆ ที่เป็นคนละคดีกัน 

 

เหตุใด? จึงยังไม่มีการดำเนินการเร่งรัดให้เป็นข้อยุติโดยเร็ว หลังมสธ.ว่างเว้นอธิการบดีมากกว่า 6 ปีแล้ว หรือว่ามีขบวนการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อเป็นการประวิงเวลา รวมถึงผู้มีอำนาจพยายามอย่างยิ่ง ประวิงเวลาหาเหตุต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการเสนอแต่งตั้งโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง "อธิการบดีมสธ." 

 

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของใครบางคนหรือไม่ ใครได้ประโยชน์กับการทำแบบนี้? มีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนปม น่าจะสรุปได้จากพฤติการณ์

 

สภา มสธ.ดื้อแพ่ง ดังนี้

1.มสธ.ส่งเรื่องโปรดเกล้าฯ อธิการบดีคนใหม่ พร้อมตั้งคำถามไปยังกระทรวงอุดมศึกษาฯว่าเรื่องการถอดถอนอธิการบดีคนก่อนศาลปกครองสูงสุดยังพิจารณาพิพากษาไม่แล้วเสร็จ จะสามารถโปรดเกล้าฯ อธิการบดีคนใหม่ได้หรือไม่ การกระทำแบบนี้จะเป็นการหาเรื่องให้เกิดความยืดเยื้อการโปรดเกล้าแต่งตั้ง อย่างชัดแจ้ง 

 

ทั้งๆ ที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีสรรหาได้วินิจฉัยพิพากษาอย่างเด็ดขาดแล้วว่าประเด็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่สงสัยว่าหมดสภาพหรือขาดคุณสมบัติในการเป็นประธานกรรมการสรรหาอธิการบดีนั้น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเด็ดขาดแล้วว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้ยังคงมีสถานะและมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์ไม่พ้นจากการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่อย่างใด ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของท่านชอบด้วยกฎหมาย กระบวนการสรรหาก็ชอบโดยกฎหมายและคุณสมบัติของ รศ.ดร.วรรณธรรม ก็ไม่พบข้อบกพร่องใดๆ เป็นไปตามข้อบังคับทุกประการ

 

เหตุใด?ฝ่ายกฎหมายมสธ. หรือใครพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความสับสน ตีความกฎหมายให้เกี่ยวเนื่องกันอย่างจงใจ เสมือนการประวิงเวลาไปเรื่อยๆ เพราะความจริงแล้วไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ต้องไปถามกระทรวงอุดมศึกษาฯแบบนั้นอีก 

 

ว่ากันว่า มสธ.ยังไม่ได้ส่งประวัติของ อธิการบดีคนใหม่ ไปที่กระทรวงอว.แต่อย่างใดเลย ดังนั้นแล้วความสมบูรณ์การของการโปรดเกล้าฯจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? เท่ากับเป็นการดื้อแพ่ง ที่มีความแยบยลทีมฝ่ายกฎหมายมสธ.เหตุใดถึงไม่ตีความให้เป็นคุณกับมหาวิทยาลัยที่รอคอยอธิการบดีมานาน 6 ปีแล้ว ที่ประหลาดสุดๆ คือคดีสรรหาอธิการบดีนี้ มหาวิทยาลัยเป็นผู้ชนะคดี แต่ยังไม่เมีแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยที่จะชี้แจงกับการได้อธิการบดีคนใหม่เหมือน มสธ.ผิดหวังที่ชนะคดี

 

2.ในทางปฏิบัติกระทรวงอุดมศึกษาฯ จะมีหน้าที่ดำเนินการตามหนังสือที่ นร. 0508 /ว 591 เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำประวัติผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆที่ต้องเสนอขอพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 30 พ.ย. 2560 และหนังสือนร. 0508 /ท 3417 ถึงสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ความสรุปหนังสือทั้ง 2 ฉบับว่า สาระสำคัญของการเสนอโปรดเกล้าอธิการบดีมสธ.จะต้องมีการตรวจสอบประวัติบุคคลเพื่อประกอบการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

 

โดยการเสนอแต่งตั้งจะต้องมีการตรวจสอบหน่วยงานเจ้าของเรื่อง 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง กรมบังคับคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปปช.สำนักงานปปท.และโดยเฉพาะส่วนราชการที่เสนอเรื่องอธิการบดี ทั้งนี้ให้ 'นายกสภามหาวิทยาลัย" หรือ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นผู้ลงนาม รับรองเอกสารการตรวจสอบประวัติบุคคลนี้ ส่งประวัตินี้ให้กระทรวงอุดมศึกษาฯ เพื่อดำเนินการต่อไป

 

3.เกมนี้จึงเดิมพันสูง เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนขัดหลักธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง เพราะในช่วงตั้งแต่ “นายกสภา มสธ.” คนปัจจุบันทำงานมามีเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้คนที่หลากหลายถึงปัญหาธรรมาภิบาล ผลประโยชน์ทับซ้อน  ไล่เรียงมาตั้งแต่ 

  • นายกสภา มสธ. ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี
  • การสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัย ใช้พวกเดียวเลือกกันเอง หรือผลัดกันเกาหลัง
  • การจัดซื้อจัดจ้างระบบออนไลน์ที่อาจเข้าข่ายฮั่วประมูล 
  • การขึ้นเงินเดือนตัวเองของ “นายกสภา มสธ.” 
  • การนำเงินคงคลัง 5,500 ล้านบาทไปลงทุนหารายได้
  • การรักษาการอธิการบดีคนปัจจุบันที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ

 

กระทรวงอุดมฯ ตอบกลับ สภา มสธ. แล้ว

ล่าสุดก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์2566 กระทรวงอุดมศึกษาฯ ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาถึง “สภา มสธ.” แล้วว่าได้หารือกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)ในการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีมสธ. นั้น ให้มสธ.ต้องถือตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่าการสรรหานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงต้องดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง อธิการบดีคนใหม่ได้เลยทันที ไม่ต้องรอคดีการถอดถอน และคดีการถอดถอนดังกล่าวให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน

 

ชัดเจน เป็นคนละคดีกัน จบได้หรือยัง หรือต้องรอลุ้นหลังสงกรานต์ “สภา มสธ.” จะมีลูกเล่นอะไรกันอีก จะต้องประชุมสภามหาวิทยาลัยกันอีกกี่ครั้ง ถึงจะยุติเรื่องนี้ซะที 

 

วอนประชาคมมสธ. อย่านิ่งดูดาย หรือปล่อยให้ มสธ. เป็นต้นแบบของการรักษาอำนาจ ปกป้องผลประโยชน์ และสุ่มเสี่ยงการไร้ธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง นะขอกบอก!!

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง