นร. 'กรุงเทพคริสเตียน' ประชัน 70 ปท. คว้าสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ เวทีสหรัฐ ฯ
นักเรียน "กรุงเทพคริสเตียน" สร้างชื่อให้ประเทศไทย เวทีแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา โดยมี 70 ประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวด ผลงานกลุ่ม "แมลงช้างปีกใส" เพิ่มอัตราการรอด เพื่อสร้างระบบกำจัดศัตรูพืช คว้ารางวัลสุดยอด พ่วงชนะเลิศ ส่วน "หนอนด้วงสาคู" ได้ 2 รางวัล
ที่ห้องประชุม Trinity Hall ชั้น 11 อาคารจอห์น เอ. เอกิ้น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ( BCC ) ได้จัดงานแสดงความยินดี กับนักเรียนซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ในงาน Regeneron Internationnal Scince and Engineering Fair 2023 : Regeneron ISEF 2023 ณ ดัลลัส เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2023 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน มากกว่า 70 ประเทศ หรือกว่า1,300 โครงงาน โดยผลงานของนักเรียนโรงเรียน "กรุงเทพคริสเตียน" ในนามตัวแทนประเทศไทย ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันภายในประเทศ และไปทำผลงานสูงสุด ชนะเลิศ และรางวัลอื่น ๆ
ในการส่งโครงงานเข้าประกวด และได้มารวม 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัล Regeneron Young Scientist Award รับเงินรางวัล 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 1.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของงาน , อันดับ 1 รางวัล 1 st Place Grand Award รับเงินรางวัล 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 170,000 บาท นักเรียน "กรุงเทพคริสเตียน" ที่ทำผลงานประกอบด้วย ปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น รุ่น 170 , ทีปกร แก้วอำดี รุ่น 171 และ ปัณณธร ศิริ รุ่น 172 จากโครงงาน กลุ่มแมลงช้างปีกใส
ถัดมาคือ ส่วนรางวัลอันดับ 3 รางวัล 3rd Place Grand Award เงินรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 34,500 บาท และ อันดับ 2 รางวัล 2nd Place Special Award จากหน่วยงาน U.S. Agency for International Development (USAID) ในสาขา Agriculture and Food Security เงินรางวัล
3,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 100,000 บาท ได้แก่ สัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์ รุ่น 173 และ ธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ รุ่น 173 จากโครงงาน กลุ่มหนอนด้วงสาคู ภายใต้การดูแลของคณะครูที่ปรึกษา ได้แก่
ชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ , วนิดา ภู่เอี่ยม , อดิเรก พิทักษ์ และ สุวรรณา อัมพรดนัย
.
สร้างนวัตกรรมฟักไข่ "แมลงช้างปีกใส"เพิ่มอัตราการรอด
.
สำหรับผลงาน ปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น รุ่น 170 ทีปกร แก้วอำดี รุ่น 171 และ ปัณณธร ศิริ รุ่น 172 นักเรียนชั้นมัธยมปลาย กรุงเทพคริสเตียน จากโครงงานกลุ่มแมลงช้างปีกใส เป็นการศึกษาพฤติกรรมการฟักไข่และพฤติกรรม การเลือกกินอาหาร เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรม การฟักไข่แมลงช้างปีกใส ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใส ได้ถึง 5.8 เท่า สำหรับแมลงช้างปีกใส เป็นแมลงตัวห้ำ ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชสูง แต่ปัญหาที่สำคัญคือ อัตราการรอดต่ำ อันมีที่มาจากการฟักไข่และพฤติกรรมการกิน
.
เพิ่มคุณค่า"ด้วงสาคู"จากศัตรูพืชเป็นแหล่งอาหาร
.
ผลงานของ สัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์ รุ่น 173 และ ธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ รุ่น 173 มาจากโครงงานกลุ่มหนอนด้วงสาคู ซึ่งด้วงสาคูเป็นศัตรูพืชสำคัญในอุตสาหกรรมพืชวงศ์ปาล์ม ในการศึกษาจึงคิดค้นการแก้ปัญหานี้ ด้วยการผสมพืชสมุนไพรพื้นเมือง ในอาหารด้วงสาคู ซึ่งมีผลต่อการชะลอการเติบโตจากตัวออก เป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นศัตรูพืช ในการศึกษาได้ทำการเพิ่มโปรตีนในด้วงสาคูและพัฒนาเป็นผงแมลงเสริมโปรตีน เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ด้วงสาคูทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งด้วงสาคูเป็นแมลงที่มีโปรตีนสูง เป็นแหล่งอาหารที่ดี
สำหรับงานแสดงความยินดีให้กับนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ร่วมกันสร้างชื่อให้กับประเทศไทย และสถาบัน ได้รับเกียรติจากผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มอบหมายตัวแทนให้มาร่วมงาน , รศ.ดร. ธณัฏณคุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , ดร.ชนินทร วรรณจิตร รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ , มณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน , ศ.( พิเศษ) เรวัต ฉ่ำเฉลิม ประธานคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย , วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติการหน้าที่ผู้อำนวยการและผู้จัดการ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะบุคลากรของสถาบัน ผู้ปกครอง ร่วมแสดงความยินดีต่อความสำเร็จดังกล่าว
วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติการหน้าที่ผู้อำนวยการและผู้จัดการ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำเร็จจากการทำผลงาน ประกอบด้วยรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของงาน , รางวัลชนะเลิศ จากโครงงานกลุ่มแมลงช้างปีกใส และรางวันอันดับ 3 และอันดับ 2 จากโครงงานกลุ่มหนอนด้วงสาคู เป็นการตอกย้ำถึงการพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ไม่เพียงแต่นำเกียรติยศและความภาคภูมิใจในนามตัวแทนประเทศไทย และความชื่นชมยินดีของสถาบันเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอดการศึกษาไทย ในแง่ของการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณภาพ
.
ร่วมภูมิใจความสำเร็จประกาศศักดิ์ศรีประเทศไทย
.
รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทย ส่งนักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันในโครงงานวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2539 จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมการแข่งขัน เป็นการคัดเลือกจากสถานศึกษาทั่วประเทศ ที่ส่งผลงานของนักเรียนเข้าประกวด จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลงานที่มาจากความสำเร็จของนักเรียนและคณะครู ที่น่าชื่นชมก็คือการพัฒนาโครงงานจนทำให้ได้รับรางวัลสูงสุด จาก 70 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ส่งโครงงานเข้าประกวด
ในแง่ของสถาบันคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างและการสนับสนุนงานทางด้านวิชาการในสาขาต่าง ๆ ขณะที่ความมุ่งมั่นของนักเรียนที่เป็นผู้ศึกษาโครงการนี้ คือ การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และทำสำเร็จในที่สุด ที่ต้องถือเป็นหมายเหตุก็คือ คุณภาพของผู้เรียนที่สามารถนำเสนอโครงงานเป็นภาษาอังกฤษ และทำให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณาให้ได้รับรางวัลสูงสุด และรางวัลอื่น ๆ ในนามหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศไทย ขอยินดีกับความสำเร็จดังกล่าว
ปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น ,ทีปกร แก้วอำดี และ ปัณณธร ศิริ รางวัลสุดยอดจากโครงงาน กลุ่มแมลงช้างปีกใส
สัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์ และ ธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ ทำผลงาน 2 รางวัล จากโครงงานกลุ่มหนอนด้วงสาคู
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ( BCC ) ได้จัดงานแสดงความยินดี กับนักเรียนซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ในงาน Regeneron Internationnal Scince and Engineering Fair 2023 : Regeneron ISEF 2023 ณ ดัลลัส เท็กซัส สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2023 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน มากกว่า 70 ประเทศ หรือกว่า1,300 โครงงาน