ข่าว

เปลี่ยนผ่าน ‘กศน.’ สู่ ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้' มีหน้าที่อะไรบ้าง

เปลี่ยนผ่าน ‘กศน.’ สู่ ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้' มีหน้าที่อะไรบ้าง

15 มิ.ย. 2566

ศธ.เดินหน้า ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ เปลี่ยนผ่าน ‘กศน.’ ยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อคนทุกเพศ ทุกวัย เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช็กรายละเอียดที่นี่

กว่า 15 ปี ในชื่อของ ‘สำนักงาน กศน.’ สังกัดสำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และ ยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.)แต่หลังจาก 19 พ.ค. 2566 กฏหมายฉบับนี้จะถูกยกเลิกไป 

ยก 'กศน.'เป็น 'กรมส่งเสริมการเรียนรู้'

หลังจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ 2566 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจาฯ  หรือ วันที่ 19 พ.ค. 2566 จะมีการยกเลิก พ.ร.บ. ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 25561 และ ยกฐานะ สำนักงาน กศน. จากหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็น ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’  หรือ กสร. มีฐานะเป็นนิติบุคคล ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 

 

14 มิถุนายน 2566 เปิดป้ายสำนักงาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ กสร

‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ มีหน้าที่อะไรบ้าง

‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 

  • การเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง
  • การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

 

ทำความรู้จัก พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ 2566

พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ 2566 กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญมาก จะทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและศักยภาพของบุคคล ทำให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

 

กลุ่มเป้าหมาย ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’

  • ผู้อยู่ในวัยเรียน แต่ไม่ได้รับการศึกษา
  • ผู้พ้นวัยที่จะศึกษาในสถานศึกษา 
  • ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร และไม่มีหน่วยงานใดไปดำเนินการ เพื่อให้ได้รับการศึกษาเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ 

 

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ประธานเปิดป้าย กรมส่งเสริมการเรียนรู้

เปิด 'กรมส่งเสริมการเรียนรู้'

14 มิ.ย. 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” โดยมี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ดร.สุเทพ ชิตยวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะคณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. ,ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา, ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ,ดร.คมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) รักษาราชการแทนอธิบดี สกร.

 

ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตลอดจนผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ศธ. ร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายภัตตาหารและจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์

เปลี่ยนผ่าน ‘กศน.’ สู่ ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้\' มีหน้าที่อะไรบ้าง

 

จากนั้น รมว.ศธ. ได้เปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” โดยพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมพรมน้ำพระพุทธมนต์ และเจิมป้ายฯ ณ บริเวณหน้าอาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

 

" ศธ.มีความมุ่งมั่นให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ละบุคคลได้พัฒนาตามความพร้อม ความสามารถ ความเหมาะสม และความต้องการ มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต

 

การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้คนไทยในอนาคตเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ" น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ระบุ

ผู้บริหารระดับสูงจาก 6 กระทรวง ร่วมวันเปิด กรมส่งเสริมการเรียนรูู้

เปลี่ยนผ่าน ‘กศน.’ สู่ ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้\' มีหน้าที่อะไรบ้าง

 

‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ นับเป็นอีกก้าวของ ‘การปฏิรูปการศึกษา’ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ปรัชญา No One Left Behind หรือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

...กมลทิพย์ ใบเงิน ...เรื่อง

....กระทรวงศึกษาธิการ..ภาพ