ตัวป้อน ‘มหาวิทยาลัยไทย’ ลดลง ต้องนำเข้า ‘นักศึกษาจีน’
นักสถิติชื่อดังจาก ‘นิด้า’ ฟันธง ‘มหาวิทยาลัยไทย’ จะอยู่รอดด้วย ‘นักศึกษาจีน’ หากไม่ปรับตัว เพื่อดึงดูดนักศึกษาเข้าเรียน อีก 5 ปีเสี่ยงถูกยุบหรือปิดตัวเอง
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสิถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยกับ “คมชัดลึก” ถึงสถานการณ์ ‘มหาวิทยาลัยไทย’ ในปี 2566 ว่า เปิดเทอม ปี2566 เห็นได้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยไทยส่วนมาก รับนักศึกษาได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีจำนวนเก้าอี้ว่างรับนักศึกษามากกว่าจำนวนนักศึกษาที่เข้ามาเรียน ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเข็นสารพัดกลยุทธ์ เปิดรับนักศึกษา 3-5 รอบ นักศึกษาก็ยังไม่เต็ม
ตัวป้อน มหา'ลัย ลด แต่ผู้สูงวัยเพิ่ม
“เพราะตลาดอุดมศึกษาไทยปัจจุบันมีขนาดเล็กมาก มีมหาวิทยาลัยกว่า 200-300 แห่ง แต่รับนักศึกษาได้น้อยกว่าศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย อีกทั้ง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนเด็กเกิดน้อยลงต่อเนื่อง จากเมื่อ 30 ปีก่อน เด็กไทยเกิดเกิน 1,000,000 คน(ล้านคน)แต่ปัจจุบันเด็กไทยเกิดใหม่ต่ำ ตกปีละประมาณ 500,000- 600,000 คน”
ไม่เพียงเท่านั้นประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย(Aged Society) มาตั้งแต่ปี2548 และจากรายงานของระบบสถิติทางการทะเบียนแจกแจงข้อมูล ในปี2565 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นที่เรียบร้อย
เห็นได้จากจำนวนปะชากรผู้สูงอายุที่มีมากถึง 12,116,119 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.3 ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีประมาณ 70,080,000 คน
คาดการณ์ว่าในอีก 7 ปี หรือปี2570 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด เช่นเดียวกับประเทศญุี่ปุ่น เพราะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นถึงร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรในประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของประชากร หรือเด็กเกิดใหม่เพียงร้อยละ 0.18 เท่านั้น
“เมื่อตัวป้อนคือเด็กนักเรียนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบทั้งระบบอุดมศึกษาไทย ทั้ง มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)จะอยู่รอดยากในอีก 5 ปีหากไม่ปรับตัว อาจจะไม่มีนักศึกษาเข้ามาเรียน จนถึงขั้นต้องยุบรวม หรือปิดตัวเอง”
ปรากฏการณ์ดิ้นเอาตัวรอดของ ‘มหาวิทยาลัยไทย’ ด้วยการอ้าแขนรับ ‘นักศึกษาจีน’ เข้ามาเรียนในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น บางสถาบันจำนวนนักศึกษาจีนมากถึงครึ่งของภาพรวมของนักศึกษาทั้งหมด จากจำนวนนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยประมาณ 3,000,000 คน(สามล้านคน)
ตลาดอุดมศึกษาไทย เป็นที่ยอมรับในภูมิภาคอาเซียน แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่ใช่ทุกประเทศที่นิยมเข้ามาเรียนในไทยได้แต่ ‘นักศึกษาจีน’ เป็นกลุ่มที่นิยมเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยไทย เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ด้วยค่าเทอมเพียง 40,000-50,000 บาทเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,มหาวิทยาลัยเกริก,นิด้า ฯลฯ
จำนวนนักศึกษาลดลง รายได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ลดลงตามไปด้วย บางสถาบันอุดมศึกษา ทยอยเลิกจ้างอาจารย์ หรืออาจารย์ต้องปรับสภาพทำงานได้หลากหลายมากขึ้น
มองมุมบวกเป็นโอกาสทองของภาคเอกชน ที่จะจ้างงานกับมหาวิทยาลัยไทย ในการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้น แต่อยู่ที่ศักยภาพของอาจารย์ และอาจารย์เมื่อลงมือทำงานวิจัยกลไกที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยได้ต้องมีนักศึกษาเป็นผู้ช่วยในการทำวิจัย กลายเป็นปัญหาลูกโซ่เมื่อตัวป้อนมหาวิทยาลัยไทยลดลง รอลุ้นรัฐบาลใหม่จะมีทางออกให้กับมหาวิทยาลัยไทยอย่างไร?
ขอบคุณที่มาข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กระทรวงอุดมศึกษาฯ , มหาวิทยาลัยเกริก
...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรื่อง