ข่าว

‘อ.จุฬาฯ’ เปิดผลวิจัยเชิงลึก พบ ‘พ่อแม่ตกงาน’ สิ้นหวัง ทำ 'เด็กหลุด’

‘อ.จุฬาฯ’ เปิดผลวิจัยเชิงลึก พบ ‘พ่อแม่ตกงาน’ สิ้นหวัง ทำ 'เด็กหลุด’

19 มิ.ย. 2566

'สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน' อ.จุฬาฯ เปิดผลวิจัยเชิงลึก ถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษามีอะไรบ้าง พบ ‘พ่อแม่ตกงาน’ สิ้นหวัง ‘ทำเด็กหลุด’ แนะรัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วน มารองรับ

นโยบายเรียนฟรี แต่ฟรีไม่จริง ทำเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยเมื่อปีการศึกษา 2565 กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รายงานตัวเลขอยู่ที่ 100,000 คน( หนึ่งแสนคน)

 

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ 'เด็กหลุด' พลาดโอกาสได้เรียนหนังสือในสถานศึกษา ล่าสุดมีผลวิจัยศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ประถม-ม.ต้น เด็กหลุด มากที่สุด

ดร.สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงลึก จำนวน 848 กรณีศึกษา ของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. พบว่า เด็กช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะวิกฤตหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้นโยบายเรียนฟรี

 

สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดมีอะไรบ้าง

ผลวิจัยเชิงลึกพบสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้นักเรียนหรือเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเชื่อมโยงครอบครัวทั้งหมด ได้แก่

1.ผู้ปกครองมีรายได้น้อย โดยรายได้ของครัวเรือนที่มีเด็กกลุ่มวิกฤตฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 900 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่หนี้สิ้นอยู่ที่ 40,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์

2.ผู้ปกครองไม่มีงานทำ และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง

3.ไม่มีค่าเดินทางมาเรียน

4.ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

5.ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะทางการศึกษา ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้

พ่อแม่ตกงาน ทำให้ลูกหลุดจากระบบการศึกษา

 

 

เด็กหลุดมีปัญหาซับซ้อน

การวิจัยในพื้นที่ยังพบว่าเด็กวิกฤตการศึกษาจำนวน 73 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โยงใยมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย เมื่อเข้าสู่โปรแกรมช่วยเหลือพบว่าการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เด็กพ้นวิกฤตได้ แต่ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ด้วย 

 

ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ที่มุ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจน สามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้

 

“จากการลงพื้นที่เราพบว่าครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ทัศนคติเหล่านี้ยังส่งผลลบมาถึงอนาคตทางการศึกษาของบุตรหลานอีกด้วย ในส่วนของการเดินทางมาเรียนก็เป็นอุปสรรคสำคัญ จำเป็นต้องมีสวัสดิการที่ช่วยเติมค่าเดินทาง หรือสวัสดิการรถรับส่งในชุมชนให้เด็กยากจนมาเรียนได้

 

เราพบว่าเด็กที่สามารถพ้นวิกฤตได้ยั่งยืนซึ่งมีอยู่จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ จากการช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นเพราะมีกลไกในพื้นที่สนับสนุนให้พ่อแม่สามารถมีอาชีพ ลืมตาอ้าปากได้ และมีทางเลือกการศึกษาที่เหมาะกับข้อจำกัดในชีวิตของเด็กและเยาวชนแต่ละคน”

 

ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา เป็นโครงการวิจัยพื้นที่และช่วยเหลือฉุกเฉินเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบบการศึกษาด้วยการเชื่อมโยง บูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยความร่วมมือของ กสศ. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ

 

ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา ‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ