ร้องออกข้อสอบ ‘ครูผู้ช่วย 2566’ แสนยาก ทำอย่างนี้เพื่อใคร ?
พิลึก สอบ ‘ครูผู้ช่วย 2566’ ประกาศผลใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 60% แต่สอบผอ.เขตพื้นที่การศึกษาใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 50% ซ้ำข้อสอบแสนยาก ทำอย่างนี้เพื่อใคร ?
อัปเดตการสอบ ‘ครูผู้ช่วย 2566’ ทุกเขตพื้นที่การศึกษา ภายหลังจากที่ให้มีการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 24-25 มิ.ย. 2566 ที่ผ่าน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยจะมีการ ‘ประกาศผลสอบครูผู้ช่วย 66’ ให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน ก.ค. 2566 แต่จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ภาค ค ภายในวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. 2566
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2566 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผย ‘คมชัดลึก’ ว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากการสอบ ‘ครูผู้ช่วย 2566’ ทั่วประเทศ เป็นจำนวนมาก ถึงเนื้อหาสาระของการออกข้อสอบ ที่มีความยากเกินความจริง บางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปรากฏว่ามีผู้สอบผ่านเพียงคนเดียว
'พิลึกไปกว่านั้น สอบ ครูผู้ช่วย 2566 ประกาศผลใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 60% แต่สอบผอ.เขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท) ใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 50% บ้าหรือเปล่า(วะ) กระทรวงศึกษาธิการ"
แถมออกข้อสอบ ครูผู้ช่วย 2566 ก็แสนยาก เอาความรู้ของคนออกข้อสอบเป็นเกณฑ์ในการประเมิน มีผู้เข้าสอบร้องเรียนมาเยอะมาก ทำอย่างนี้เพื่อใคร ?
"เขาเรียนจบหลักสูตรความเป็นครูมาแล้ว ทำไมจะต้องวัดด้วยข้อสอบที่แสนยาก แบบเอาเป็นเอาตายเลยหรือ ถ้าผมมีอำนาจผมจะใช้วิธีการอื่น เพื่อให้โอกาสคนเรียนครูจบมาจะได้งานทำอย่างเป็นธรรม ไม่ต้องปล่อยให้เขาเหล่านั้นตกงานจนต้องเป็นภาระของบ้านเมืองอีกต่อไป”
การจัดการศึกษา'ไม่มีคำว่าขาดทุน' ที่ผ่านมาจัดแบบคนโง่ไม่มีบูรณาการ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทุกยุคมาจากโควตาของพรรคการเมือง มันเลยเกิดปัญหาในการจัดการศึกษาของชาติล้าหลังมาตลอดกาล
ถามกลับกระทรวงศึกษาธิการ สอบ ‘ครูผู้ช่วย 2566’ ทำไมประกาศผลใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 60% แต่สอบผอ.เขตพื้นที่การศึกษาใช้เกณฑ์คะแนนตัดสินที่ 50% ทำไมต้องจ้างมหาวิทยาลัยออกข้อสอบ ทำอย่างนี้เพื่อใคร ?
ทำไมไม่ให้ ศึกษานิเทศก์ เป็นคนออกข้อสอบ ‘ครูผู้ช่วย 2566’ เหมือนในอดีต อย่าลืมว่าศึกษานิเทศก์ เป็นบุคลากรทางการศึกษา ที่มากด้วยความรู้ ความสามารถ และทำงานใกล้ชิดคลุกคลีกับครู จะได้รู้ว่าควรจะคัดเลือกครูแบบไหน ที่มีความเหมาะสมสามารถจะมาช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กได้จริง หรือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน?