‘ตรีนุช’ โว ‘แก้หนี้ครู’ ได้เกือบ 2,000 ล้าน จาก มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย
‘ตรีนุช เทียนทอง’ รมว.ศึกษาฯ ดึง 16 หน่วยงาน ‘แก้หนี้้ครูอีสาน’ ผ่านมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย ครั้งที่ 5 ปรับความสมดุลหนี้ครูทั้งระบบอย่างยั่งยืน เผยครูเป็นหนี้หลายพันล้านบาท แต่ช่วยแก้หนี้ครูได้เกือบ 2,000 ล้านบาท
วันที่ 15 ก.ค. 2566 ที่ ห้องประชุมสยามมนต์ตรา คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมสยามแกรนด์ อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิด มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life”4 ภูมิภาค ครั้งที่ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วม 16 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้ง ภาครัฐ-ภาคเอกชน-สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย
พร้อมด้วย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหาร ศธ.มีครูจากจังหวัดจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ หนองบัวลำภู หนองคาย และ จังหวัดเลย เข้าร่วม
น.ส.ตรีนุช กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดงานฯ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับภูมิภาค ด้วยการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life”สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค 5 จังหวัด โดยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อต้นปี 2566 ในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับ16 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี และสถาบันการเงินชั้นนําของประเทศไทย
รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างจริงจังทั้งระบบ โดยความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ครั้งที่ผ่านมา มีดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 626 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 785 ล้านบาท
ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 143 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 175 ล้านบาท
ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 199 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 274 ล้านบาท
ล่าสุดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีครูได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 393 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 615 ล้านบาท
ทั้งนี้ภาพรวมตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีครูที่ได้รับการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า มีการเจรจาไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำนวน 1,361 ราย แก้ไขหนี้ได้กว่า 1,849 ล้านบาท รวมถึงอบรมให้ความรู้วินัยการเงินสำเร็จแล้ว จำนวนกว่า 6,500 ราย ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันผลักดันงานนี้เพื่อให้ครูไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"ถึงแม้งานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยจะเดินทางถึงครั้งสุดท้าย แต่ ศธ. ยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาความเดือนร้อนของครูไทยทั้งระบบให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะขยายผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงตั้งเป้าหมายฝึกอบรมหลักสูตรความรู้ทางการเงินให้ครูไทยทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้ครูไทยมีระเบียบวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง และมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้จริง"น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้านนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงาน ศธ. มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับพื้นที่ทั้งระบบอย่างยั่งยืน ใน 3 มิติ
มิติแรก เน้นการอบรมให้ความรู้ทางการเงินในด้านการออม การลงทุน การบริหารจัดการหนี้ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อต่าง ๆ เช่น จัดการเงินดี Happy แน่นอน,รู้คิดพิชิตหนี้,รู้ทันภัยการเงิน เพื่อให้ครูสามารถวางแผนการเงิน-การลงทุน-ภาษี บริหารรายรับ-รายจ่าย และจัดการหนี้สินของตนเองและครอบครัวได้
มิติที่ 2 เปิดให้คำปรึกษา เจรจา ไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ครูไทยเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงได้รับการผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงินเป็นกรณีพิเศษ
และมิติที่ 3 เร่งผลักดันและดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ได้กำหนดไว้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูให้ยั่งยืน ได้แก่
1.สร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)การอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน การออม การลงทุน และการบริหารจัดการหนี้สิน,ให้คำปรึกษาทางการเงิน,จัดงบประมาณการใช้เงินในหมวดหมู่ต่าง ๆ การใช้เงินต่อเงิน การลงทุน การกู้ยืม ภาษี และการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนตัวในภาพรวมให้เกิดความสมดุล
2.บริหารจัดการแบบพุ่งเป้า (Targeted management)พบปัญหาเร่งช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าเพื่อปรับสมดุลหนี้ อาทิ ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี (หนี้วิกฤต /NPL),ปรับโครงสร้างหนี้,เจรจาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้,จัดหาsoft loan (แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ)
3.พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลหนี้ครู (Management Information System)จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มลูกหนี้ครูตามสถานะและเชื่อมโยงฐานข้อมูลหนี้ครูทั้งระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ทั้งกลุ่มลูกหนี้วิกฤต,ลูกหนี้ (เงินเหลือน้อยกว่า 30%),ลูกหนี้ (สถานะปกติ) และกลุ่มผู้ค้ำประกัน
4.พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแรงสหกรณ์ออมทรัพย์ครู (Support System)เร่งพัฒนาระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศและสถาบันการเงิน