เปิดประวัติ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ อธิการบดีอินดี้ ศิลปินนักการศึกษา
เปิดประวัติ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ อธิการบดีอินดี้ ผู้ปรับโฉม ‘มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’ ฝ่าวิกฤติ ด้วยการประกาศจุดยืน ‘โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน’ เป็นศิลปินนักการศึกษา ปิดตำนานเจ้าของเพลง เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ด้วยวัย 69 ปี
อีกไม่กี่วันจะครบรอบวันเกิด เจ้าของเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) “เพชร โอสถานุเคราะห์” เสียชีวิตด้วยวัย 69 ปี เขาเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงในวงกว้าง แต่อีกบทบาท เขาคือทายาทองค์กรที่มีอายุ 132 ปีอย่าง โอสถสภา หนึ่งในยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคอยู่อยู่เคียงคู่ประเทศไทย และ เพชร มีกัน 2 พี่น้องกับ รัตน์ โอสถานุเคราะห์ หรือเรียกได้ว่าทั้งคู่เป็นทายาทโดยตรงของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ในเจนเนอเรชั่นที่ 3 ขับเคลื่อนธุรกิจ ส่งไม้ต่อมายังเจนเนอเรชั่น 4 ในปัจจุบัน
"เพชร โอสถานุเคราะห์" ไม่เพียงสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่เขายังเป็นบุคลสำคัญในแวดวงการศึกษา เพราะทุ่มเทสรรพกำลังเต็มที่ให้กับ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความคิดสร้างสรรค์ ตามแบบฉบับของผู้นำที่มีจุดแข็งด้านครีเอทีฟสูงมาก
เรียกได้ว่าแวดวงการศึกษาได้สูญเสีย นักการศึกษา มือดี ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ ศิลปินนักการศึกษา อดีตนักร้องที่โด่งดังมีผลงานที่เป็นที่รู้จักในเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)เพลงดิ้นๆ กันไป ,เพลงคนไทย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเคยเป็น รองประธานกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)ปัจจุบันเป็น ‘อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ’
เปิดประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์
เกิดวันที่ 21 สิงหาคม 2497 (69 ปี) ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” และปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ (สกุลเดิม เธียรประสิทธิ์) ซึ่ง “ปองทิพย์” เป็นพี่สาวของ “สปัน เธียรประสิทธิ์” อดีตภรรยาของชรินทร์ นันทนาคร
“เพชร โอสถานุเคราะห์” เริ่มเรียนที่โรงเรียนสมประสงค์จนถึง ป.3 จากนั้นก็ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนพิพัฒนา จนถึงชั้น ม.4 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ Teaneck High School ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดที่ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานโฆษณา ก่อนออกผลงานเพลง แล้วหันไปทำงานนิตยสารสำหรับผู้หญิง จากนั้นก็ขยายไปทำงานด้านรายการโทรทัศน์ คือรายการผู้หญิงวันนี้
ความเป็นศิลปินที่มีอยู่ในสายเลือด ยังถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง อย่างที่รู้กันดีว่านักร้อง นักดนตรี ที่ชื่อ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ฝากชื่อเสียงไว้ในวงการเพลงไม่น้อย มีผลงานแต่งเพลงที่ติดหูอย่าง “หมื่นฟาเรนไฮต์” ที่วงไมโคร ขับร้อง ก่อนที่จะทำอัลบั้มแรก ชุดธรรมดา มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่มีเพลงดังอย่าง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” ในปี 2530
“เพชร โอสถานุเคราะห์” หวนกลับเข้าสู่วงการเพลงอีกครั้ง หลังจากหายหน้าไปร่วม 20 ปี เพื่อทำงานผลงานเพลงอีกครั้ง ในปี 2550 ได้ออกผลงานอัลบั้มที่สอง “Let's Talk About Love” เขายังบอกด้วยความติดตลกเมื่อคราวให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ตั้งใจจะออกอัลบั้มใหม่ทุก 20 ปี” ซึ่งชุดที่ 3 คงออกตอนที่เพชรอายุ 80 ปี ถ้าวันนั้นเขายังคงมีชีวิตอยู่
8ปี กับบทบาท อธิการบดีอินดี้
โดยเมื่อปี 2558 “เพชร โอสถานุเคราะห์” ต้องมาสวมบท ศิลปินนักการศึกษา เข้ามาเป็นปรับโฉมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะ “อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ที่ผู้พ่อก่อตั้งให้เป็น Creative University หรือ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ตามแนวคิดเปิดกว้าง โดยปักธงวางเป้าไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา เมื่อการศึกษาในโลกสมัยใหม่ หลายคนอาจมองเป็นวิกฤตมหาวิทยาลัย แต่ “อธิการบดีอินดี้” กลับมอง “Education Disruption คือโอกาส” มีการปรับทิศทาง ยกเครื่องการเรียนการสอนสาขาวิชาใหม่ๆ รับโลกยุคดิจิทัล พร้อมกับประกาศจุดยืน “โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน”
“มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ในวันที่ไม่มี “เพชร โอสถานุเคราะห์” ยังไม่มีความชัดเจน ว่าใครจะมารับไม้ต่อสายฝัน มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์เป็นคนต่อไป แต่ ณ วันนี้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งมีนักศึกษาเข้ามาเรียนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้านักศึกษาจีน เฉกเช่น มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ดิ้นรนเอาตัวรอดในสภาวะเด็กเกิดใหม่ทั่วโลกมีจำนวนลดลง
หลับให้สบายเถอะนะ “เพชร โอสถานุเคราะห์” อธิการบดีอินดี้ ศิลปินนักการศึกษา ผู้ปรับโฉม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฝ่าวิกฤติยกเครื่องการเรียนการสอนรับโลกยุคดิจิทัล ด้วยการประกาศจุดยืน ‘โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยน’ ณ วันนี้ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ผงาดอยู่แถวหน้าของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย แบบเบ็ดเสร็จแล้ว
...กมลทิพย์ ใบเงิน...รายงาน