สานพลังท้องถิ่น-ภาคีเครือข่าย แก้ ‘บูลลี่-ความเครียด’ ใน ‘โรงเรียน’
เวทีเสวนา ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาไทยในระดับภูมิภาค สช.สานพลัง ‘ศธ.-ท้องถิ่น’ ใช้เครื่องมือ ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จัดการปัญหา ‘บูลลี่-ความเครียด’ ในโรงเรียนทั่วประเทศ
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศในระดับภูมิภาค” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะล่าสุดที่ได้มีการจับมือลงนามขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา’ ร่วมกับ ศธ. เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จะเป็นกรอบทิศทางหรือข้อตกลงร่วมในเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการส่งเสริมสังคมสุขภาวะ ผ่านการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน โดยขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานรัฐและเอกชน ให้นักเรียนได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี มีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันสถานศึกษาก็จะมีสภาพแวดล้อมที่มีสุขภาวะชัดเจนมากขึ้น
“เด็ก เยาวชน และสถานศึกษา ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมสุขภาวะ ซึ่ง สช. เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้มากว่า 16 ปี และเชื่อว่าการจะทำให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย คือการบูรณาการความร่วมมือ เพราะหากทำคนเดียวผลสำเร็จก็จะได้น้อย แต่การจับมือร่วมกันจะทำให้งานน้อยกลายเป็นมาก งานยากกลายเป็นง่าย โดยหลังจากที่เราปักธงขับเคลื่อนไปทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการขยับเรื่องนี้ในระดับจังหวัด โรงเรียน นำไปสู่การเดินหน้าที่มีความจำเพาะเจาะจงตามบริบทของพื้นที่”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สช. ยังมีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพที่สำคัญ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งก็จะชักชวนเข้ามาร่วมบูรณาการ เชื่อมร้อยและขับเคลื่อนงานกับ ศธ. จากนี้ไปด้วยเช่นกัน บนเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพที่ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา กระจายลงไปสู่ชุมชนและโรงเรียน สอดคล้องตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 และเป้าหมายการปฏิรูประบบการศึกษา
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัดศธ.) กล่าวว่า โครงสร้างของ ศธ. นอกจากการขับเคลื่อนงานของสำนักงานปลัดฯ ในส่วนกลางแล้ว ยังมีหน่วยงานส่วนภูมิภาค ทั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ซึ่งเดิมบทบาทสำคัญในงานบริหารบุคคลจะอยู่กับ ศธจ. แต่ภายหลังเมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเลิกบทบาทนี้ให้ไปอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษา ปัจจุบันทางสำนักงานปลัดฯ จึงได้กระจายอำนาจงานอื่นๆ ในบางส่วนลงไปแทน
ทั้งนี้ ในส่วนของบทบาทใหม่ เช่น ศธภ. จะดูแลงานเสมือนเป็นสำนักงานปลัดฯ ในส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่องการพัฒนาบุคคล วิทยฐานะ เลื่อนขั้น เงินเดือน ฯลฯ ส่วน ศธจ. จะเปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานมือขวาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนงานด้านวิชาการ นั่นจึงทำให้บทบาทของศึกษาธิการฯ เหล่านี้เปลี่ยนไป จากการนั่งหัวโต๊ะ กลายมาเป็นโซ่ข้อกลาง ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานให้เข้ามาร่วมดำเนินงาน
“การแก้ไขปัญหาของระบบการศึกษาในพื้นที่ จึงต้องเกิดจากการเชื่อมโยงงานเข้าด้วยกัน บูรณาการทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะหน่วยงานของศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานภายนอกอย่าง สช. เช่นเดียวกัน ซึ่งธรรมนูญสุขภาพที่เป็นเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็ใช้หลักการแนวคิดนี้เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ อาศัยโรงเรียนเข้าไปส่งเสริมเรื่องสุขภาพทั้ง 4 มิติ เช่น หากนักเรียนได้รับผลกระทบจากการถูกบูลลี่ หรือเครียดอยากจะกระโดดตึก เราจะทำอย่างไร จึงหวังว่าจะเป็นแนวทางที่ให้ ศธภ. ศธจ. นำไปบูรณาการจัดทำแผนในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้สำเร็จต่อไป” ดร.อรรถพล กล่าว
ด้าน นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนงานสู่เป้าหมายที่ต้องการ คือสัมพันธภาพและไมตรีจิต โดย สถ. ก็ได้มีการลงนามความร่วมมือการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ ร่วมกับ ศธ. เพื่อเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่อย่างมีคุณภาพ
บนเป้าหมายบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ปัญหาด้านการศึกษาเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากมาโดยตลอด ซึ่งภาพรวมของ อปท. มีอิสระในการบริหารจัดการด้านการศึกษา ผ่านการบริหารโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ที่รวมกันทั่วประเทศเกือบ 2 หมื่นแห่ง ดูแลเด็กนักเรียนรวมประมาณ 1.3 ล้านคน ครูและบุคลากรการศึกษาอีกกว่า 6 หมื่นคน แต่กลับมีศึกษานิเทศก์เพียง 131 คน ใน อปท. ที่มีการจัดระบบระเบียบการศึกษา 932 แห่ง จากทั้งหมด 7,849 แห่ง
“ศึกษานิเทศก์ เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญแต่ยังมีจำนวนอยู่น้อยมาก การลงนามร่วมกับ ศธ. นี้จะทำให้ท้องถิ่นได้รับความช่วยเหลือในการนิเทศสถานศึกษา ให้นำไปสู่การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานที่มากยิ่งขึ้น เพราะตัวอย่างจากท้องถิ่นหลายแห่งที่บริหารจัดการด้านการศึกษาได้ดี ก็ด้วยการมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เข้ามาร่วมหนุนเสริมให้ท้องถิ่นสามารถปรุงแต่งระบบการศึกษาของเขาได้อย่างเหมาะสม บนเป้าหมายการส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว