ข่าว

เปิดอาชีพสุดปังยุคเทคโนโลยี AI  รายได้เดือนเฉียดล้าน แต่ในไทยยังไม่มีปรากฏ

เปิดอาชีพสุดปังยุคเทคโนโลยี AI รายได้เดือนเฉียดล้าน แต่ในไทยยังไม่มีปรากฏ

25 ส.ค. 2566

"วิศวกรพร้อมท์" (Prompt Engineer) อาชีพยุค AI ทำงานแทนมนุษย์ได้ รายได้เดือนเฉียดล้าน อาชีพในต่างประเทศฮือฮา เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและมีรายได้ค่อนข้างสูง เรียนหลักสูตรนี้ได้ที่ไหน เช็กได้ที่นี่

แนวโน้ม "เทคโนโลยี AI" หรือปัญญาประดิษฐ์ กำลังบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาทดแทนงานของมนุษย์บางอย่าง โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำๆ เหมือนเดิม และงานด้านการบริการ เช่น Call center หรือ Teller เป็นต้น มีโอกาสที่จะถูกทดแทนก่อนอาชีพอื่นๆ 

 

 

 

ภาพประกอบ
 

การเปิดตัว ChatGPT พบว่า แนวโน้มของการถูกทดแทนอาจเร็วขึ้น รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การต้องการลดต้นทุนของเจ้าของกิจการ เทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด 19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนหันมาพึ่งการใช้งาน "เทคโนโลยี AI" มากขึ้น

 

 

 

ภาพประกอบ

หากมองในอีกมุมหนึ่ง จะพบว่า เราสามารถใช้งาน AI เป็นตัวช่วยที่ดีและรวดเร็วในการทำงานของเราได้ ทำให้อาชีพหรือทักษะใหม่ในการทำงานร่วมกับ AI เช่น "วิศวกรพร้อมท์" (Prompt Engineer) สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับคนที่มีทักษะด้านนี้ได้อย่างมาก

 

 

 

"บลูมเบิร์ก" รายงานว่า ตำแหน่งงาน "วิศวกรพร้อมท์" นี้มีรายได้สูงถึง 335,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 11 ล้านบาทต่อปี โดยพวกเขาเรียกว่า "วิศวกรพร้อมท์" คือ คนที่ใช้เวลาทั้งวันในการสื่อสารกับ AI เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และช่วยบริษัทต่างๆ ในการฝึกอบรมพนักงานเพื่อควบคุมเครื่องมือต่างๆ 

 

 


บริษัท Anthropic เป็นสตาร์ตอัพที่ได้รับการสนับสนุนจาก Google กำลังเปิดรับสมัครงาน "วิศวกรพร้อมท์" ที่เงินเดือนสูงถึง 335,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับตำแหน่ง "Prompt Engineer and Librarian" ในซานฟรานซิสโก 

 

 


บริษัท Klarity ผู้ตรวจสอบเอกสารอัตโนมัติในแคลิฟอร์เนียเสนอเงินมากถึง 230,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับวิศวกรแมชชีนเลิร์นนิงที่สามารถสร้างพร้อมต์ และเข้าใจวิธีสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากเครื่องมือ AI

 

 

 

"ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์" คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.:DPU) ได้กล่าวถึง "วิศวกรพร้อมท์" ว่า อาชีพหรือทักษะนี้ทำหน้าที่สื่อสารกับ AI ให้ทำงานหรือผลลัพธ์ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการเขียนข้อความหรือชุดคำถามหรือชุดสั่งการให้ AI เข้าใจและสามารถตอบคำถามหรือดำเนินการให้ตรงตามความต้องการหรือปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างแม่นยำหรือตรงกับความต้องการมากที่สุด จะเห็นได้จากการใช้งาน ChatGPT หรือ Bard หรือ แชตบอทอัจฉริยะอื่นๆ เป็นต้น เพราะโดยปกติแล้ว AI ที่เราคุยด้วยหรือทำงานด้วยจะเปรียบเสมือนคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักวิธีคิดของเรา

 

 

 

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์

 

 

 

ดังนั้น การสื่อสารหรือสั่งการที่ซับซ้อนก็จะมีขั้นตอนหรือกระบวนการบางอย่าง เช่นเดียวกับที่เราต้องสื่อสารกับคนอื่นๆ ที่เพิ่งรู้จักกัน โดยคนที่จะมาเป็น "วิศวกรพร้อมท์" ต้องมีองค์ความรู้หลักที่ถูกต้องและมีความเชี่ยวชาญในการพูดคุยกับ AI ผ่านคำถามหรือคำสั่งที่ป้อนเข้าไป หากถามแบบไม่ชัดเจนไม่มีหลักการ ก็จะได้คำตอบกลับมาที่ไม่ตรงตามความต้องการหรือผิดพลาดไปเลย

 

 

 

อย่างไรก็ตามอาชีพ "วิศวกรพร้อมท์" เป็นที่ฮือฮาในต่างประเทศเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและมีรายได้ค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ปรากฎอาชีพนี้ในประเทศไทย

 

 

 

"ดร.ชัยพร" กล่าวเพิ่มเติมว่า ChatGPT หรือ Bard นั้นเป็น AI ที่เป็น Chatbot ที่มีฐานความรู้มากมายมหาศาลจากการเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และสามารถรวบรวมข้อมูลหรือความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นคำตอบให้เราได้ ส่วนคำตอบจะถูกต้องหรือตรงกับความต้องการของผู้ถามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป้อนคำถาม หากผู้ป้อนคำถามไม่มีองค์ความรู้ในการจัดการชุดคำสั่งที่ถูกต้องเพื่อป้อนข้อมูลให้กับ AI ในการตอบ ChatGPT คำตอบที่ได้อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่ต้องการ ฉะนั้นคนที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวหากไม่มีความรู้ และเชื่อคำตอบจาก  AI ทั้งหมด อาจเจอปัญหาในการใช้ AI ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาดเพราะมั่นใจและเชื่อประสิทธิภาพของ AI มากเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ

 

 

 

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกของ AI สิ่งที่จำเป็นต้องมีองค์ความรู้หลักๆ ที่สำคัญในอาชีพนั้นๆ จึงจะสามารถใช้งาน หรือสั่งการควบคุม AI เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยงานเราได้ต่อไป DPU ได้ร่วมกับวิทยาลัย CITE เตรียมความพร้อมให้นักศึกษา โดยมีการเพิ่มทักษะเรื่อง "วิศวกรพร้อมท์" ให้นักศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่กำลังมาแรงนี้ได้ 

 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

"ทุกรายวิชาที่สอนเน้นความทันสมัยนำไปปฏิบัติและใช้งานได้จริง ที่สำคัญก่อนจบการศึกษา นักศึกษาต้องทำโครงการวิจัยจบ เพื่อให้ได้มาตรฐานการศึกษา และต้องทำโครงการสหกิจศึกษาหรือฝึกงานอีก 4 เดือน เพื่อฝึกประสบการณ์และสัมผัสบรรยากาศในการทำงานจริง เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ที่สำคัญให้นักศึกษาให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี" "ดร.ชัยพร" กล่าวในที่สุด