ข่าว

‘หมอระวี’ ฟาด ‘กระทรวงอว.’ จี้สะสางปัญหาธรรมาภิบาลใน ‘มสธ.’

‘หมอระวี’ ฟาด ‘กระทรวงอว.’ จี้สะสางปัญหาธรรมาภิบาลใน ‘มสธ.’

27 ส.ค. 2566

'หมอระวี' ฟาด 'กระทรวงอว.' ไม่เคยมีคำตอบหรือคำชี้แจงใดๆ กับปมปัญหาต่างๆ มสธ. จี้ เร่งรัด ติดตาม ตรวจสอบ และสั่งการ แก้ไขปัญหา ธรรมาภิบาล ใน ‘มสธ.’ ด่วน

กระทรวงอว. มาถึงวันนี้ ยังไม่สามารถแก้ปัญหา ให้สถาบันการศึกษา มีธรรมาภิบาล ตามที่เคยประกาศไว้ได้แต่อย่างใด จึงมีข้อกังขา ที่ อาจจะมีสภาพร้ายแรง ระหว่าง เจ้าหน้าที่กระทรวงกับ ทาง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือ มสธ. ที่ส่อไปในทาง เพื่อรักษาผล ประโยชน์เกื้อกูลกัน หรือไม่ จึงทำให้ไม่มีการตรวจสอบ การร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ มสธ.ให้มีมาตรฐาน เป็นกลาง เป็นธรรม และรวดเร็ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ยื่นหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เพื่อขอให้มี การเร่งรัดติดตาม การตรวจสอบ ปัญหาธรรมาภิบาลของ มสธ. โดยด่วน ใน 3 ประเด็น ที่ล่วงเลยมากว่า 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ และคำชี้แจง ตลอดจนการแก้ไขปัญหา ใดๆจากทางรัฐมนตรี หรือทางกระทรวง ได้แก่

 

 

1.การร้องเรียน ในประเด็น เกี่ยวกับ การที่ มสธ.นำเงินรายได้ไปลงทุน 5,500 ล้านบาท เป็นไปกฎหมายหรือไม่อย่างไร เหตุใดรัฐมนตรีถึง ได้รับรองว่าทำได้ ทั้งๆที่ ยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และ เบื้องต้นเคยส่ง หลักฐาน ข้อหารือ กรมบัญชีกลาง ที่ชัดแจ้งว่า ไม่น่าจะสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

2.การยืมตัวข้าราชการ รศ.มานิต จุมปา ข้าราชการ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารักษาการอธิการบดี มสธ. เป็นการยืมตัวข้าราชการที่ ถูกระเบียบของราชการหรือไม่ ทั้งที่ยังไม่มีการอนุมัติจากปลัดกระทรวง เหตุใด จึงสามารถทำงานพร้อมกัน 2 ที่ ในเวลาเดียวกัน และได้รับค่าตอบแทนหรือเงินเดือน ทั้ง 2 ที่เต็มจำนวน ทั้งที่เป็นการทำงานเพียงบางเวลา หรือชั่วคราวเท่านั้น และล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีแล้ว ยังไม่มีคำตอบเช่นกัน เหตุใดจึงเป็นการยืมตัว ข้าราชการมาดำรงตำแหน่งระดับสูง เทียบเท่ากรม ที่ สามารถทำได้ หรือมีผลประโยชน์หรือ เข้ามารักษาอำนาจเพื่อใคร อย่างไร

 

 

3.กรณีการเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ เหตุใดถึง มีความ ล่าช้า เสมือนมีการประวิงเวลา จงใจกลั่นแกล้งหรือไม่ ทั้งๆที่ ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาคดีสรรหาถึงที่สุด เป็นที่ยุติแล้ว ว่าชอบด้วยกฎหมายทุกประการ หากแต่ สภามหาวิทยาลัย ยังไม่มีการดำเนินการเสนอโปรดเกล้า แต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ ให้เสร็จสิ้น แต่โดยดี

 

 

นอกจากนี้ การที่ สภามหาวิทยาลัย ได้เคยดำเนินการ เสนอโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ทั้งคณะอีกสมัย ไป ตั้งแต่ปลายปี2565 แล้วนั้น หากแต่ยังคงมีเรื่องร้องเรียน ที่ยังไม่มีคำตอบ ทางกระทรวงอว. ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นที่ชัดเจนแล้วหรือไม่ อย่างไร เพราะมีความเกี่ยวเนื่อง กับ ปัญหาพฤติการณ์ ของนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ชุดปัจจุบัน ที่อาจจะส่อไปในทางทุจริต ดังกรณี สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ ให้นำเงินรายได้ไปลงทุน กับบริษัท ลงทุน จำนวน 5,500 ล้านบาท ที่ สภามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจ อนุมัติ

 

 

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ยังมีความคลุมเครือ อย่างยิ่ง ไม่มีคำตอบใดๆ เนื่องจาก มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่น่าจะเกิดจากการเล่นพรรคเล่นพวก ความไม่มีธรรมาภิบาลของ เจ้าหน้าที่กองกฎหมายกระทรวงอว.หรือไม่ สืบเนื่องมาจาก รักษาการอธิการบดี มสธ. เป็น นักกฎหมาย ที่มีชื่อเสียง ทำงานให้กับกระทรวงในฐานะ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ที่มีความใกล้ชิด จึงอาจทำให้มีการคอยปกป้องรักษาผลประโยชน์ทำให้ข้อร้องเรียนต่างๆ เกิดการประวิงเวลา 

 

 

และ ในที่สุดไม่สามารถดำเนินการอะไรต่างๆได้ จึงเป็น ความกังวลและสภาพร้ายแรงถึงข้อพิรุธ ที่อาจทำให้เกิด ความไร้ธรรมาภิบาลในกระทรวง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่มีคำตอบใดๆออกมาให้กับสาธารณชน ได้รับทราบแต่อย่างใด เสมือนมีผู้อิทธิพลครอบงำ และอาจทำให้ ไม่มีการตรวจสอบ ใดๆ ให้เกิดความกระจ่าง โปร่งใส เป็นกลางและเป็นธรรม ตามหลักการธรรมาภิบาลที่กระทรวงวางระบบไว้

 

 

สุดท้าย นพ.ระวี ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงอุดมศึกษาฯ ได้โปรด เร่งรัด ติดตาม ตรวจสอบและสั่งการแก้ไขปัญหาเรื่องปัญหาธรรมาภิบาลของมสธ. โดยเร็ว โดยที่ ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ จะปฏิเสธ และปัดความรับผิดมิได้ เนื่องจากตำแหน่งปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้อง เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย มสธ. โดยตำแหน่ง ตาม พระราชบัญญัติ มสธ. อีกด้วย