จากรัฐมนตรี ‘คุณหนู’ สู่มือ ‘รมว.ตำรวจ’ การศึกษาไทยจะไปทางไหน
การศึกษาไทยจะไปทางไหน ภายใต้ร่มเงา ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ‘รมว.ตำรวจ’ รับไม้ต่อจากรัฐมนตรี ‘คุณหนู’ ดูแลหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬาร จะ'กระจายอำนาจ’ ก็ไม่สำเร็จ และจะ ‘รวบอำนาจ’ กลับมาก็ไม่ทัน รัฐมนตรีใหม่จะเข้าไป ‘ยุ่มย่าม’ กับโครงสร้างเดิมไม่ได้เลย?
ที่สุดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็ได้รัฐมนตรีคนใหม่หมาด ๆ จากพรรคภูมิใจไทย อย่าง “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” มากุมบังเหียนคุมกระทรวงที่ได้งบสูงสุด และยังเป็นกระทรวง ที่จะชี้ทิศทางของระบบการศึกษาไทยอีกด้วย
เรื่องนี้ทำให้คนไทยทุกคนที่ช่วงหนึ่งของชีวิต ต้องเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงให้ “นายตำรวจ” มาคุมกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งๆ ที่หากมองให้ลึกๆ แล้ว พรรคภูมิใจไทย มีคนที่รู้หรืออยู่แวดวงการศึกษาอยู่หลายคน แม้ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง คำถามที่หลายคนสงสัยว่าจะทำได้หรือไม่นั้น คงต้องให้เวลากับรัฐมนตรีที่เคยรับราชการตำรวจ ได้พิสูจน์ตัวเอง
สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณคิดเป็น 3.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท
หากมองจากงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการดูจะเป็นกระทรวงเกรดเอ แต่ในข้อเท็จจริง กว่า 62% ของงบประมาณทั้งหมด หรือคิดเป็น 2 แสนล้านบาท จะถูกใช้ไปกับงบประมาณบุคลากร
นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของ ‘งบอุดหนุน’เพื่อสนับสนุนในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกเป็นก้อนใหญ่ คงเหลือ ‘งบลงทุน’ ราว 5% เท่านั้น ขณะเดียวกัน งบลงทุนยังเป็นการลงทุนในแง่สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ประเภทอาคาร ครุภัณฑ์ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อวางโครงสร้างทางการศึกษาระยะยาว
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีระบบและโครงสร้างอันสลับซับซ้อน เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่น ๆ มีปลัดกระทรวงคนเดียว แต่กระทรวงศึกษาฯ มีข้าราชการเทียบเท่า ซี11 ถึง 5 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเลขาธิการสภาการศึกษา
ศธ.เป็นหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬาร จะ ‘กระจายอำนาจ’ ก็ไม่สำเร็จ และจะ ‘รวบอำนาจ’กลับมาก็ไม่ทันแล้ว เพราะฉะนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีสถานะเกรดซี เพราะรัฐมนตรี จะเข้าไป“ยุ่มย่าม”กับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วไม่ได้เลย
ย้อนอดีต เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 “ครูเหน่ง”น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศ 12 นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย
1. การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21
2.การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ใด้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล
3.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) ละการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน
4.การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน
5.การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ
6.การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน
7.การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ
8.การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย
9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
10.การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา
11.การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
12.การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ตลอดระยะเวลาที่ น.ส.ตรีนุช เป็นผู้นำขับเคลื่อนนโยบายที่ตั้งไว้ตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ทั้ง 12 ข้อนั้น มีการประเมินผลจากหน่วยงานในสังกัดหรือไม่ว่านโยบายเหล่านั้นได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง และประสบความสำเร็จไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะภาพที่เห็นระบบการศึกษาของไทยยังอยู่ใน“โหมดเดิม”
น่าสนใจยิ่ง ครูอุ้ม ‘พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) หรือ เสมา 1 ข้ามสายอาชีพสุดขั้ว จากตำรวจมาดูแลงานการศึกษา เมื่อตรวจสอบประวัติ ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ไม่พบประวัติเส้นทางสายงานด้านการศึกษา ทำให้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า แนวทางหรือนโยบายของ รมว.ศธ.คนใหม่ ในกระทรวงศึกษาธิการ จากนี้ไปการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร
...ชัยวัฒน์ ปานนิล...รายงาน