ครูไม่ขำ นโยบายแก้ปัญหา ‘หนี้ครู’ ของ ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ
อดีตประธาน กมว.คุรุสภา บอก ‘ครู’ไม่ขำ นโยบายแก้ปัญหา ‘หนี้ครู’ ของ ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ พร้อมแนะทางออก อยากช่วยปลดหนี้ให้ครูจริงใจ ต้องทำแบบนี้
ดร.ธนารัชต์ สมคเณ อดีตประธานกรรมการมาตราฐานวิชาชีพครู(กมว.) คุรุสภา และเลขาธิการชมรมครูเฒ่าเฝ้าบ้าน ศธ. ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” ถึงนโยบายแก้ปัญหา “หนี้ครู” ของ ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)จากพรรคภูมิใจไทย ว่า ครูค่อนประเทศไม่ขำกับนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครูที่บอกให้ครูใช้ชีวิตแบบพอเพียง เวลาไปช่วยงานไม่มีเงินก็ใส่ซองช่วย 20 บาท หรือ ช่วยล้างจานในงาน เวลาไปสอนหนังสือก็ใช้รถคันเดียวกันไปด้วยกัน
แก้ หนี้ครู หรือ แค่หาเสียงกับ ครู
"นโยบายแก้หนี้ครูของรมว.ศธ.ไม่เหมาะกับยุคสมัย ตอนนี้ครู สังคมผิดหวังมาก เพราะสังคมคาดหวัง อะไรที่ออกมาจากปากรัฐมนตรีศึกษาธิการ ถือเป็นนโยบาย แต่คำพูดเหล่านี้ไม่ควรออกมาจากปากรัฐมนตรี เหมือนดูหมิ่นวิชาชีพครู แต่ครูฟังแล้วสะเทือนใจ และไม่ขำตามนะครับ"
หาก รมว.ศธ. อยากช่วยครูจริงๆ มีช่องทางทำได้ แต่หวั่นว่าจะเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาบอกจะปลดหนี้ครู แก้หนี้ครู แต่ก็ไม่ทำจริงจัง แต่เอาผลประโยชน์จากครูมากกว่า ทั้งผ่านช่องทางเงินกู้ ช.พ.ค. ไปใช้จ่ายหรือจัดอีเว้นท์ ไม่เกิดประโยชน์กับครู เป็นพิธีกรรม วาทกรรมไปวันๆ จนครบวาระรัฐมนตรีศึกษาฯ ก็จากไป ไม่ได้ช่วยครูอย่างจริงจัง คุณภาพชีวิตของครูก็เหมือนเดิม
“หนี้ครู” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยมาก กลายเป็นการหาเสียงกับครู แต่ไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คนไหนทำสำเร็จ หรือช่วยเหลือครูได้จริง ครูก็ยังลำบาก สภาพเดิม อยู่บ้านเช่า ข้าวต้องซื้อกิน
หนี้ครู มาจากไหน ทำไมครูถึงเป็นหนี้
สภาพหนี้ครู หรือหนี้สินครู ต้องบอกมาว่าครูทุกคน ไม่ได้มาจากครอบครัวร่ำรวยมีฐานะทางการเงินดี ในทางกลับกันครูมาจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดี พ่อแม่ต้องกู้เงินเพื่อนำมาส่งลูกเรียน เมื่อลูกเรียนจบสอบเป็นข้าราชการครู พ่อแม่สุดดีใจ ครูใหม่เมื่อทำงานก็ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการใช้หนี้ที่พ่อแม่กู้ยืมมาให้เรียน หรือช่วยเหลือน้องๆ ครอบครัว เป็นวงจรชีวิตที่ไม่จบสิ้น
มีครูเพียงส่วนน้อยที่ใช้จ่ายเกินตัว วิ่งเต้นตำแหน่ง ที่เหลือครูส่วนใหญ่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ทำให้ครูเป็นหนี้ประมาณร้อยละ 80 ของครูรุ่นเก่าที่จะหมดในปี 2566
เจ้าหนี้ครูรายใหญ่ คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ตามด้วย เงินกู้ ช.พ.ค. ,หนี้นอกระบบ ฯลฯ ส่วนหนึ่งของหนี้ครู เกิดจากครูกู้เงินไม่ระวังตัวเองนำมาใช้ในครอบครัว ขณะเดียวกันบางสหกรณ์ฯ ผลักดันให้ครูเป็นหนี้ หรือที่เรียกกันว่า“ครูกินครู”
เปิดที่มา ครูกินครู ส่งต่อ หนี้ครู อย่างไร
ยกตัวอย่างทำไมครูเป็นหนี้ ส่วนมากจะเกิดกรณี “ครูร้อนเงิน” ต้องหาทางออก ด้วยการเอาเงินสดจากประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นเงินส่วนตัว เช่น กู้เงินสดมาใช้ก่อน 5,000 บาท พอสิ้นเดือนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูก็จะหักเงินเดือนครูทันที ร้อย 5-10 หรือขึ้นอยู่กับข้อตกลงก่อนที่สิ้นเดือน และรับเงินก่อนสิ้นเดือน แบบนี้ในแวดวงการศึกษาเขาเรียกว่าเข้าข่าย“ครูกินครู” แต่ครูรุ่นใหม่นิยมทำประกันชีวิตแทนกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือกู้เงินช.พ.ค.-ช.พ.ส. เพราะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า
เปิด 6 ช่องทางแก้ไขปัญหาหนี้ครู
ครูร้อยละ 80 ของจำนวนครูทั่วประเทศ ยังเป็นหนี้โดยเฉพาะครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว รวมทั้งครูรุ่นเก่า แม้บางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีกำไรจากการดำเนินกิจการ แต่เงินเหล่านี้ถูกนำมาใช้จ่ายในกลุ่มของตัวเองเช่น ท่องเที่ยว ทัศนศึกษา ซึ่งครูส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเอาเปรียบครู แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ หากนำผลกำไรเหล่านั้นมาแบ่งปันครูบ้าง ครูคงไม่ลำบากจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
แต่ทุกปัญหามีทางออก ปัญหาหนี้ครู ก็เช่นเดียวกัน หากจริงใจ จริงจัง และทำจริงมีทางออก ดังนี้
1.ตั้งกองทุนรวมหนี้ครู การตั้งกองทุนรวมหนี้ครูจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู , เงินกู้ ช.พ.ค., เงินกู้สถาบันการเงินต่างๆ และเงินกู้หนี้นอกระบบ โดยรวมหนี้สินเป็นกองเดียว แล้วให้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
“เงินกองทุนที่จะมาดำเนินการ อาจระดมและเจียดมาจากสถาบันการเงินที่ให้ครูกู้ ช.พ.ค. และเงินกองทุนครูของแผ่นดินที่มีในกระทรวงศึกษาธิการ หรือเงินจากมหาเศรษฐีไทย นักการเมือง ที่มีเงินนับพันล้าน หมื่นล้าน หรือบุคคลทั่วไป ที่สนใจนำเงินมาร่วมกองทุน เพราะหากช่วยครูก็เหมือนช่วยชาติ เมื่อสุขภาพจิตครูดีขึ้น การจัดการศึกษาย่อมดีตามมา เงินต้นและดอกเบี้ยไม่สูญเพราะหักเงินเดือนของครูคืนให้”
2.ลดดอกเบี้ยโหด จากเดิมดอกเบี้ยร้อยละ 5-10 ต้องลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3
3.ผู้บริหารคอยกำชับ ไม่ให้ครูสร้างหนี้เพิ่ม ต้องมีวินัยใช้เงิน โดยกำหนดมาตรการไม่ให้ครูไปกู้ที่ใดเพิ่มอีก เงินครูจะเหลือพอยังชีพ คุณภาพชีวิตดีขึ้น
4.สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ต้องช่วยครูด้วยความจริงใจ วันนี้ยังมีประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือกรรมการบางสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ได้สร้างเครือข่ายเอาเปรียบครู กินเลือดเนื้อครูด้วยกันอย่างไม่ละอายแก่ใจ มีการสร้างระเบียบ เปิดช่องให้ตนเองและพรรคพวกแสวงหาประโยชน์จากครู เช่น ให้ครูกู้ยืมเงินของตนเองที่คิดดอกเบี้ยสูง โดยให้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย เมื่อเงินกู้สหกรณ์ออกตอนสิ้นเดือน หรือให้ครูกู้เงินดอกเบี้ยสูงมาชำระเงินที่กู้สหกรณ์เพื่อให้ครูได้กู้ยอดใหม่
เป็นการแสวงหาประโยชน์จากสมาชิกครูผู้เดือดร้อน กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ควรปรับแก้ไขระเบียบเพื่อช่วยเหลือครูที่จำเป็นและเดือดร้อนจริงๆบ้าง สหกรณ์ฯ บางแห่งมี วงจรอุบาทว์ เลือกประธาน กรรมการก็กลุ่มคนเดิมๆ เพียงสับเปลี่ยนให้เป็นตามวาระ เพื่อมาหาประโยชน์จากสหกรณ์ฯ และครู เลิกเถิด ที่กระทำมาควรเพียงพอแล้ว เวรกรรมมันมีจริง
5.ปรับขึ้นเงินเดือนครูจากผลงานที่สะท้อนจากนักเรียน
6.สกสค.ต้องหาช่องทางชดเชยเงินคืนสมาชิกที่ลดลง โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)วันนี้ต้องคิดให้ได้ ว่าจะหาเงินส่วนใดมาชดเชยให้สมาชิกที่ทยอยเสียชีวิต เพื่อไม่ให้เงินคืนสมาชิกลดลงมาก จนลูกหลานเขาเดือดร้อน ช.พ.ค.ในวันนี้ ครูรุ่นใหม่ไม่สนใจสมัครสมาชิก เพราะเขาหันไปทำประกันชีวิตที่เขามองผลคุ้มค่ากว่า การเป็นสมาชิก ช.พ.ค. เขาไม่ได้เข้าใจครูช่วยครูที่ครูรุ่นเก่าคิดไว้
“สกสค. ต้องตระหนักในเรื่องนี้ว่าจะมีวิธีการใดมารองรับ เพราะสมาชิกมีแต่คนอายุมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่คนหนุ่มสาวไม่สมัคร แล้วกลุ่มสมาชิกคนท้ายๆ คงได้รับเงินน้อยลง หรือจะคอยหักเงินค่ารายศพสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างเดียว อย่าลืมว่าเงินครูเกษียณค่าเงินคงที่ หากหักเงินเพิ่มก็จะทำให้เขาเดือดร้อนในการดำรงชีวิต”
ด้วยเหตุนี้ ครูไม่ขำ กับนโยบายแก้ปัญหา "หนี้ครู" ของ ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ แต่หากจริงใจ จริงจัง อยากช่วยปลดหนี้ให้ครูจริงๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่มีความกล้าหาญมากพอ และใช้คนดี -คนเก่ง ให้ถูกกับงานด้วย