‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ คาดโทษ 'ผอ.สพท.' หักเงินเดือนชำระ ‘หนี้ครู’ เกิน 30 %
2 รัฐมนตรีศึกษา ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน’ รมว.ศึกษาธิการ- สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. พร้อมคณะทำงาน ถกเครียดสางปัญหาแก้ 'หนี้ครู' คาดโทษผอ.เขตพื้นที่การศึกษา หักเงินเดือนชำระเกิน 30 % เร่ง ปลัดศธ.วิเคราะห์ ปัญหาภาพรวมใน 15 วัน
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมหารือแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่าง ศธ.กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลักใน ศธ.และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ศธ.ว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯร่วมกับ 12 หน่วยงานภาครัฐ มีโครงการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยฯ เพื่อช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา และจัดอบรมวินัยการเงิน
พร้อมทั้งเน้นใช้ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ฯมาใช้ในการหักเงินเดือนครูฯ โดยครูฯต้องมีเงินเดือนเหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่ในทางปฏิบัติพบว่า บางเขตพื้นที่การศึกษาโดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.)กลับหักเงินเดือนครูเกินกว่าที่ระเบียบฯกำหนด ทำให้ครูอยู่อย่างยากลำบาก เพราะมีเงินเดือนเหลือใช้จ่ายไม่ถึงร้อยละ 30
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ถือเป็นปัญหางูกินหางที่จะต้องมาทบทวนบทบาทของ ผอ.สพท.ว่า มีความทับซ้อนกับบทบาทอื่นด้วยหรือไม่ และมีเขตพื้นที่การศึกษาใดบ้างที่หักเงินเดือนครูเกินกว่าระเบียบฯกำหนด
“นอกจากนี้ ผมได้มอบโจทย์ให้ทุกองค์กรหลักใน ศธ.ไปรวบรวมข้อมูลหนี้สินครูฯในสังกัดของตัวเองส่งมายังสำนักงานปลัด ศธ. โดยจะมีปลัด ศธ.เป็นประธานในการวิเคราะห์ข้อมูลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯในภาพรวมของ ศธ. แล้วให้เสนอกลับมาให้ผมภายใน 15 วัน"พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า รวมทั้งให้ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด แบ่งเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และคณะอนุกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯโดยด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมแก้ปัญหาหนี้ครู หลัง 2 รัฐมนตรีศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และมอบนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 โดยแก้หนี้ครูเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการยุค พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็น รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคภูมิใจไทย