ข่าว

โรคหัวใจล้มเหลว คร่า ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน  ปูชนียบุคคลการศึกษาไทย

โรคหัวใจล้มเหลว คร่า ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ปูชนียบุคคลการศึกษาไทย

30 ก.ย. 2566

ปูชนียบุคคลด้านการบริหารการศึกษา ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำทางความคิดและสร้างนวัตกรรมการศึกษาไทย ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช "ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน"  ได้ถึงแก่กรรมในวัย 89  ปี

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน วัย 89  ปี     ได้ถึงแก่กรรม จากโรคหัวใจล้มเหลว   สร้างความสูญเสียครั้งสำคัญต่อวงการศึกษาไทย  ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน  ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก และผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   ได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลด้านการบริหารการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย เป็นผู้นำทางความคิดและสร้างนวัตกรรมการศึกษาไทย ที่ได้รับรางวัลดีเด่นและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีผลงานด้านวิชาการ ทั้งงานวิจัย ตำรา บทความ เอกสารบรรยาย และปาฐกถาต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นผลงานอันทรงคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จนเป็นที่ยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

 

 

 

 

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ว่า เป็นปูชนียบุคคลผู้สร้างรากฐานการศึกษาไทย  ข้อมูลที่บันทึกไว้ยังรวมไปถึง การที่
ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับการยกย่องว่า  "บิดาแห่งการศึกษาทางไกลของประเทศไทย"  เป็นผู้นำระบบการศึกษาทางไกลมาใช้ เพื่อบรรเทาปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี พ.ศ.2521 มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย

 

 

 

 

ถือเป็น  "นวัตกรรมอุดมศึกษาของประเทศไทย"  ที่ให้โอกาสทางการศึกษา จนได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นสถาบันที่เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิดในระบบการสอนทางไกล ที่ใช้สื่อประสมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และได้รับการยกย่องจากสภาการศึกษาทางไกลระหว่างประเทศให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลก และได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย

 

 

 

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่เกิดจากความคิด สติปัญญาและความสามารถของคนไทยอย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยเปิดจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้ กระทั้ง เมื่อศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน  ได้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเปิดตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับปริญญา โดยอาศัยสื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน

 

 

 

จนสำเร็จได้ยกร่างโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิด มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้มหาวิทยาลัยเปิดเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัย ว่า  "สุโขทัยธรรมาธิราช"  ตามพระนามทรงกรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานสิทธิเสรีภาพ และผู้ทรงสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

 

 

 

โรคหัวใจล้มเหลว คร่า ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน  ปูชนียบุคคลการศึกษาไทย

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ยังได้รับความไว้วางใจจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2522 ดังคำกล่าวว่า  "จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้สมกับความไว้วางใจที่ประเทศชาติและประชาชนมอบให้"   ซึ่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในระยะที่เป็นอธิการบดี เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากที่สุด การทำงานเป็นทีม และการเป็นที่พึ่งของผู้อื่น โดยยึดหลัก "การบริการคืองานของเรา"

 

 

 


ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ยังได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี พ.ศ. 2533 เป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐแห่งแรกของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2535 โดยได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมเชิงระบบบริหารเต็มรูปแบบ ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ หรือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งระบบราชการไม่เอื้อต่อการทำงานของมหาวิทยาลัย เป็นการสืบทอดเจตนารมย์

 

 

"กระบวนการสวางคนิวาส"  ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2506 ที่มุ่งหวังให้สถาบันอุดมศึกษาเจริญรุดหน้า เป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และมีอิสรภาพในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ และการดําเนินภารกิจทุก ๆ ด้าน ด้วยหลักการที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคลและการเงินที่มีความคล่องตัว เพื่อดึงดูดคนดีคนเก่งเข้ามาเป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย

 

 

โรคหัวใจล้มเหลว คร่า ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน  ปูชนียบุคคลการศึกษาไทย

 

 

 

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้แก่

  • พ.ศ. 2520 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2521 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2521 – 2530 อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พ.ศ.2535-2543 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • พ.ศ.2536-2541 รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • พ.ศ.2549 – 2550 อธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

 

 

บทบาทอื่น ๆ ยังรวมไปถึง   สมาชิกวุฒิสภา  ,สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ,สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ,ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ.2549-2551

 

 

 

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่  22 ธันวาคม พ.ศ.2477 ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา  การศึกษาสูงสุด พ.ศ. 2510 ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัย Minnesota สหรัฐอเมริกา ได้รับทุนของมหาวิทยาลัย Minnesota

 

 

.

ที่มาข้อมูล   ห้องสมุด มสธ. [ หอจอหมายเหตุ ]