ข่าว

‘สส.ประชาธิปัตย์’ ชำแหละนโยบายการศึกษา เสนอศธ.'ลดวิชาไม่จำเป็น'

‘สส.ประชาธิปัตย์’ ชำแหละนโยบายการศึกษา เสนอศธ.'ลดวิชาไม่จำเป็น'

07 ต.ค. 2566

สส.ประชาธิปัตย์ เสนอศธ. ปรับหลักสูตร ‘ลดวิชาไม่จำเป็น’ กระจายโอกาส เพิ่มความเท่าเทียมทางการศึกษา ให้เรียนรู้ตลอดชีวิต รองรับสังคมผู้สูงอายุ ประเมินครูต้องไม่เพิ่มภาระ ทำให้ครูมีอิสระมากขึ้น

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการจับกระแส แลสภา ถึงมุมมองต่อนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ว่า เรื่องการศึกษาเป็นส่วนที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ เป็นความพร้อม เพราะถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ แต่ปัจจุบันพบว่าการศึกษายังมีปัญหาในหลายประเด็น ดังนี้

 

1. การมีจำนวนสถานศึกษาน้อยโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล อย่างจังหวัดพัทลุง กลับไม่ได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ ทำให้โรงเรียนต้องพยายามหารายได้ด้วยตัวเอง เพื่อนำมาใช้ดูแลบุคลากร และสถานที่

 

2. ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งที่ผู้เรียนใช้เวลาเรียนมาก แต่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

 

 

3. หลักสูตรล้าสมัย ไม่ทันต่อสภาพสังคมและความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งหลักสูตรควรให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมโดยเฉพาะในการสร้างอาชีพ เมื่อเรียนจบจะทำให้ออกไปเผชิญกับความท้าทาย หรือโอกาสใหม่ๆ ในอนาคตได้

 

 

4. ปัญหาครู และบุคลากร ที่นอกจากประสบปัญหาการขาดแคลนครู ที่มาจากการขาดแรงจูงใจที่จะประกอบอาชีพ ตั้งแต่เงินเดือน สวัสดิการ ไปจนถึงเรื่องมาตรฐานการสอน และการที่ครูมีภาระอื่นๆ นอกจากการสอนแล้ว ยังมีปัญหาอื่นที่มากดทับครูด้วย เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม

 

“เราไม่สามารถมีการศึกษาแบบเดิมๆ ที่ผลิตบุคลากรให้ออกมาเหมือนกัน ให้ไปเป็นลูกจ้าง หรือเป็นบุคลากรแบบเดิมได้ แต่จะต้องรองรับความหลากหลายตามสภาพสังคมในปัจจุบันให้มากที่สุด ที่ผ่านมายังเรายังแก้ปัญหาการศึกษาได้ เหมือนยังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะไม่เข้าใจปัญหาและความต้องการในการศึกษาทั้งผู้เรียน และผู้สอน อีกทั้งไม่เข้าใจไปถึงความท้าทาย และการเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ให้รองรับกับอนาคตได้ และการจะลดความเหลื่อมล้ำได้ จะต้องกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม”

 

 

เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเมื่อรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว ทำให้โรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดห่างไกล มีเด็กน้อย ได้รับงบประมาณน้อย ส่งผลต่อการมีอาคารเรียนทรุดโทรม บุคลากรไม่เพียงพอ และทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยลง เด็กบางส่วนจึงเลือกไปเรียนที่โรงเรียนในเมือง ทำให้เกิดการกระจุกตัวของนักเรียนของโรงเรียนในตัวเมือง และส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากการมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนมากเกินไป ครูดูแลได้ไม่ทั่วถึง

 

 

พร้อมตั้งข้อสังเกต นโยบายการศึกษาของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ว่า เป็นนโยบายที่มีแต่คำพูด อาจจะดูดี แต่ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่มีกรอบเวลา และแผนที่ชัดเจน โดยจะเห็นได้จากคำแถลงนโยบายรัฐบาล ที่กล่าวถึงบริบททางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา กล่าวถึงแนวคิดของระบบการศึกษาในภาพกว้าง ๆ เช่น การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การกระจายอำนาจการศึกษา การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่กลับไม่มีการลงรายละเอียดของการดำเนินการ และผลสำเร็จที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 

 

 

นอกจากนี้ยังไม่มีการกล่าวถึงการลดภาระครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของผู้สอน และผู้เรียน ขณะที่นโยบายหาเสียงของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการชูนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมีข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพด้วย แต่นโยบายหาเสียงเหล่านั้นกลับไม่มีอยู่ในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

 

สำหรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” นั้น โดยรวมมีทิศทางที่น่าสนใจ เพราะได้พูดถึงการลดภาระครู และลดภาระผู้ปกครอง แต่เมื่อดูในรายละเอียด พบว่ามีเรื่องที่น่ากังวล และก่อให้เกิดคำถามหลายส่วน ตั้งแต่การปรับวิธีการประเมินครู การแก้ปัญหาหนี้สินครู และยังมีเรื่องการแจกแท็บเล็ตให้ครู

 

 

“ที่บอกว่าจะมีมาตรการรวมรถกันไปสอนนักเรียน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หากไปงานศพ งานแต่ง ก็ไม่ต้องใส่ซอง แต่ให้ไปช่วยกันล้างจาน เรื่องนี้ผมกุมขมับเลย ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่ายังไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ท่านควรไปคุยกับครูว่าความเป็นอยู่เป็นอย่างไร เงินพอใช้หรือเปล่า ปัญหาในโรงเรียนมีอะไรบ้าง ถ้าเราจะเอาเงินไปใช้กับการซื้อแท็บเล็ตให้ครู มาเพิ่มสวัสดิการครู หรือจ้างบุคลากรให้มาทำหน้าที่ธุรการ งานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เพื่อคืนครูให้นักเรียน และลดภาระครูจะดีกว่าหรือไม่”

 

 

ส่วนนโยบายลดภาระให้ผู้ปกครองนั้น โดยเฉพาะการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน แม้เทคโนโลยีจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จำเป็นหรือไม่ที่จะใช้งบประมาณมหาศาลไปในตอนนี้ และในอดีตก็เคยมีตัวอย่างชัดเจนมาแล้วด้วยนอกจากเกิดการทุจริตแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพแท็บเล็ตอีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรนำผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายในอดีตมาปรับใช้ในปัจจุบันด้วย

 

 

การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นที่จะต้องวางกรอบกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการออกระเบียบ หรือกฎหมายนั้นจะกลายเป็นตัวเพิ่มภาระ หรือเพิ่มความยุ่งยากให้กับการจัดการศึกษาหรือไม่ ซึ่งครูต้องมีหน้าที่สอน ไม่ใช่ทำหน้าที่อื่นที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงหลักสูตร และวิชาต่างๆ ให้รองรับอนาคต ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในโลกปัจจุบัน เช่นทักษะการบริหารธุรกิจ การบริหารการเงิน การจัดการอารมณ์ การเอาตัวรอด ความคิดสร้างสรรค์ ผลิตบุคลากรให้มีความหลากหลาย มีกลไกควบคุมรับรองมาตรฐานทางอาชีพ เพื่อส่งเสริมตลาดแรงงานที่รวดเร็วอย่างมีคุณภาพ 

 

 

ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องจัดเพื่อรองรับความแตกต่าง ความหลากหลาย และความต้องการในอนาคต การกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมให้ทุกพื้นที่ ให้โรงเรียนมีงบประมาณอย่างเพียงพอ ต้องเรียนฟรีได้จริง ลดหลักสูตร ลดวิชาที่ไม่จำเป็น มีความยืดหยุ่น

 

 

การประเมินครูต้องดูความเหมาะสมไม่เพิ่มภาระ และทำให้ครูมีความอิสระมากขึ้น ที่สำคัญการศึกษาไม่ควรหยุดอยู่เฉพาะในห้องเรียน แต่ต้องรองรับสังคมผู้สูงวัยให้เกิดเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ได้ทุกช่วงวัยอีกด้วย