มมส. ดัน ‘มหาสารคาม’ สู่ 'เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก'
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มมส. จับมือภาคีเครือข่ายจัดงานสืบค้นดีเอ็นเอของชาวมหาสารคาม พร้อมจัด เส้นทางการเรียนรู้: มหาสารคาม DNA พร้อมดัน ‘มหาสารคาม’ สู่การเป็นสมาชิกของ เมืองแห่งการเรียนรู้โลกยูเนสโก
นายทม เกตุวงษา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรสารคาม ได้จัดงาน “เส้นทางการเรียนรู้: มหาสารคาม DNA” เส้นทางแห่งความรู้ ความรัก ภาคภูมิใจ และสร้างรายได้ ของชาวเมืองมหาสารคาม โดยมีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ และคณะการบัญชีและการจัดการ) เทศบาลเมืองมหาสารคาม YEC หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โปรแกรม Learning City
“การจัดงานครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินการค้นหาอัตลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยในปี 160 ปีในปี 2568 นี้ และจากการสืบค้นดังกล่าว หวังจะผลักให้เมืองมหาสารคามเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ซึ่งต้องอาศํยความร่วมมือและการร่วมผลักดันขององค์กรเครือข่ายทั้งจังหวัด นอกจากนั้นยังค้นหา ร้านดีร้านอร่อย และของดีที่อยู่ในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตด้วย”นายทม กล่าว
ด้านนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตนเพิ่งย้ายมาจากจังหวัดน่าน และเพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้ไม่กี่วัน แต่วันนี้ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวมหาสารคามในการดำเนินกิจกรรมการค้นหาอัตลักษณ์และดีเอ็นเอของตนเองทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทำให้มั่นใจว่าการดำเนินการอะไรในอนาคตคงจะไม่มีปัญหาและประสบความสำเร็จแน่นอน รวมถึงการจะผลักดันให้จังหวัดมหาสารคามเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกในปี 2568 นี้ด้วย
ขณะที่ รศ.ธีรชัย บุญมาธรรม อาจารย์ผู้สอนด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีความเป็นมายาวนานก่อนการตั้งจังหวัดเมื่อ 158 ปีก่อน เพราะมีพื้นที่เคยเป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยทวารวดี และมีเมืองโบราณหลายแห่ง โดยเฉพาะในส่วนของการตั้งเมืองมหาสารคามเองนั้นมีเอกสารทางประวัติศาสตร์เก็บเอาไว้หลายชิ้น และได้เก็บรวบรวมมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม ซึ่งดูแลโดยเทศบาล
โดยเฉพาะการสืบค้นที่มาของชื่อเมืองมหาสารคาม ได้มีเอกสารการยก “บ้านยางใหญ่” เป็นเมืองมหาสารคาม ซึ่งทำให้ต้องค้นหาที่มาที่ไปของชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ชาวเมืองมหาสารคามจะต้องสนใจประวัติความเป็นมาของตนเอง รวมถึงค้นหาอัตลักษณ์ที่มีอยู่ในเมืองแห่งนี้เพื่อจะได้ต่อยอดสู่กิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างรายได้
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ได้จัดที่พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม โดยการดูแลของเทศบาลเมืองมหาสารคาม กิจกรรมในงานมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีมหาสารคาม ทั้งข้าวเม่า ปลาร้าบอง ผ้าไหม ขนมครก ฯลฯ รวมถึงกมีการพาผู้สนใจ นั่งรถรางและรถสองแถว ไปเรียนรู้ DNA ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตามแหล่งเรียนรู้ 14 แห่ง ในตัวเมืองมหาสารคาม พร้อมมีป้ายบอกสถานที่สำคัญตามจุดต่าง ๆ และมีมัคคุเทศก์เป็นนิสิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มมส. เป็นผู้คอยแนะนำด้วย