ข่าว

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

17 ต.ค. 2566

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 สุดยอดครูจาก 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทรงให้กำลังใจการทำงานครู "ด้วยดวงใจของครูจะสู้ทน" บทบาทครูไม่เพียงสอนแต่ต้องพัฒนานักเรียนให้เต็มศักยภาพ ท่ามกลางเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสานทางออนไลน์และการเชื่อมสัญญาณกับสถานทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเนื่องในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 ว่า ถือเป็นเวลา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อเชิดชูครูที่เป็นเลิศในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งมีผู้รับรางวัลมาแล้ว 55 ราย และขอแสดงความยินดีกับครูดีเด่นทั้ง 11 ท่านจากอาเซียนและติมอร์-เลสเต ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในปีนี้ ความทุ่มเทของครู การเป็นแบบอย่างที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียน และเริ่มตั้งแต่ปีหน้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีนี้จะขยายครอบคลุมไปอีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย ซึ่งข้าพเจ้าได้จัดทำโครงการบางอย่างในโรงเรียนประเทศเหล่านี้ และมีเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานในวันนี้

 

ครูนิวัฒน์ เงินงามมีสุข รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

 

ครูไม่เพียงแต่สอนเท่านั้น แต่ยังดูแลการพัฒนาด้านอื่นๆ ของนักเรียน เพื่อส่งเสริมนักเรียนให้เต็มศักยภาพ เช่น ในช่วงระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ครูทั่วโลกต้องทำงานอย่างหนักเพื่อชดเชยการเรียนรู้ของนักเรียน

 

นอกจากนี้ โลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คุณครูต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) และ Big Data ซึ่งท้าทายครูในการใช้ข้อมูลเหล่านี้ผสานรวมเข้าไปในการศึกษาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันครูก็ต้องพัฒนาตนเองผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อก้าวให้ทันโลกและติดตามการพัฒนาใหม่ๆ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลยังคงสานต่อภารกิจของตนเองในฐานะ “ตัวแทนการเปลี่ยนแปลง” เพื่อช่วยพัฒนาครูและนักเรียนในประเทศของตนเองรวมถึงในเครือข่ายของเราด้วย

 

 

 

ข้าพเจ้าอยากจะแบ่งปันบทกลอนบทหนึ่งที่ประพันธ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งทำหน้าที่เป็นครูสอนเด็กๆ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย บทนี้สะท้อนบทบาทของครูที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงได้เป็นอย่างดี “ครูเป็นเพียงนักรบจบแค่นี้ บุกป่าดงพงพีเข้ามาหา ครูไม่มีทั้งสิ้นปริญญา ครูมีแต่ศรัทธามาจากใจ จะจุดเทียนส่องสว่างที่กลางป่า ไม่เลือกว่าหน้าตาภาษาไหน ถึงแม้งานจะหนักสักเพียงใด ด้วยดวงใจของครูจะสู้ทน” ในบทสุดท้ายที่เขียนว่า “ด้วยดวงใจของครูจะสู้ทน” มีไว้เพื่อครูทุกท่าน ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ คณะกรรมการและอาสาสมัครมูลนิธิ ซึ่งมีดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานคือลมใต้ปีก ของครูหลายท่านในเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าววว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า “ครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ” ซึ่งฝ่าพระบาททรงเป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเราทุกคน ที่ทรงทุ่มเททั้งเวลาและกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาและโภชนาการ โดยเฉพาะเด็กเยาวชนด้อยโอกาสและอาศัยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ยังรวมถึงประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต สำหรับบทบาทของครูเพื่อก้าวข้ามความท้าทายในยุคหลังโควิด-19 ครูคือผู้จัดการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ความรู้และสร้างสภาพแวดล้อม และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาครูรุ่นใหม่ ที่ชาญฉลาด ออกแบบนวัตกรรมวิธีการสอนเพื่อใช้ในห้องเรียน จึงต้องสนับสนุนการจัดฝึกอบรมการใช้ ICT เพื่อประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัลและนำเทคโนโลยีในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจำเป็นต้องปลูกฝังมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าใจในสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ตลอดจนตระหนักถึงแนวโน้มในอนาคต ซึ่งการศึกษาเป็นหนทางเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นหลักประกันของการเป็นพลเมืองที่รอบรู้

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

 

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

 

สุดยอดครูจาก 11 ประเทศรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 ครอบคลุมถึงครูการศึกษาพิเศษ ครูคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์ การศึกษานอกระบบและผู้อำนวยการโรงเรียน มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้

 

1.นาย โมฮาหมัด อาเมียร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน (Mr. Mohamad Amir Irwan Haji Moksin) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมศึกษา Pengiran Kesuma Negara Bukit Beruang ผู้เชื่อมั่นว่า “เด็กทุกคนมีความสำคัญ” โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ความมุ่งมั่นของครูเออร์วัน คือการดึงศักยภาพของนักเรียนทุกคนออกมาอย่างเต็มที่

 

 

2.นางจักรียา เฮ (Mrs. Chakriya Hay) ประเทศกัมพูชา ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย Sok An Samrong High School จังหวัดตาแก้ว ผู้ผสมผสานวิชาในสาขา STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หลอมรวมเข้ากับการสอนของตนเอง โดยใช้สื่อการสอนและเทคโนโลยีที่เรียบง่ายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน

 

 

3.นางฮาริสดายานี (Mrs. Harisdayani) ประเทศอินโดนีเซีย ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 2 Binjai ผู้ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย เช่น EduGame ผ่านโทรศัพท์มือถือ TikTok Facebook และ WhatsApp เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้

 

 

4.นางกิมเฟือง เฮืองมะนี (Mrs. Kimfueang Heuangmany) สปป.ลาว ครูใหญ่และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาในโรงเรียนประถมศึกษา The Pheermai เมืองละมาม แขวงเชกอง  ผู้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาลูกหลานรุ่นต่อไปให้เป็นพลเมืองของ สปป. ลาว ที่มีความรู้รอบด้านและมีคุณภาพ

 

 

5.นายไซฟูนิซาน เช อิสมาเอลท (Mr. Saifulnizan Che Ismail) ประเทศมาเลเซีย ครูคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และไอที โรงเรียนประถมศึกษา Sekolah Kebangsaan Raja Bahar ในโกตาบารู ผู้นำความรู้ของตนมาประยุกต์สร้างสรรค์กิจกรรมในชั้นเรียนและเปลี่ยนให้ห้องเรียนกลายเป็นศูนย์กลางของนักสร้างดิจิทัลและเวทีการเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมให้กับนักเรียน

 

 

6.ดอ อาย ซู หวิ่น (Daw Aye Su Win) ประเทศเมียนมา ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในเมือง Hlaingtharyar Township ผู้กระตุ้นการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษผ่านการ์ตูน หนังสือนิทานในห้องสมุด และโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังส่งเสริมด้านสุขอนามัย และดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน

 

 

7.นายเจอร์วิน วาเลนเซีย (Mr. Jerwin Valencia) ประเทศฟิลิปปินส์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติไดกราส ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นนำของจังหวัดอีโลโคสนอร์เต ผู้ที่มีการสอนสอดคล้องกับการบริการชุมชน หลอมรวมวิชาคณิตศาสตร์เข้ากับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของนักเรียนและเป็นผู้นำโครงการปรับปรุงชุมชน

 

 

8.นางชิว หลวน เพนนี ชง (Mrs. Chew Luan Penny Chong) ประเทศสิงคโปร์ ครูการศึกษาพิเศษ ที่มีความบกพร่องทางสายตา โรงเรียน Ahmad Ibrahim Secondary School ผู้มุ่งมั่นช่วยนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเข้าเรียนในโรงเรียนปกติ โดยสนับสนุนให้นักเรียนเป็นอิสระพึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาและนักเรียนปกติทั้งในและนอกโรงเรียน

 

 

9.นางสาว ฟิโลมินา ดา คอสต้า (Ms. Filomena da Costa) ประเทศติมอร์-เลสเต ครูสอนภาษาอินโดนีเซียในโรงเรียนมัธยมปลาย Saint Miguel Arcanjo Secondary School ผู้เปิดประตูแห่งโอกาสในอนาคตของนักเรียนด้วยทักษะทางภาษา สร้างศูนย์ “Mother Teresa Home Care” เพื่อให้การดูแลเด็กยากจนและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ดูแลเด็กอายุตั้งแต่ 3-15 ปี

 

 

10.นายมา หุ่ง เหงียน (Mr. Manh Hung Nguyen) ประเทศเวียดนาม รองผู้อำนวยการโรงเรียน Hoang Van Thu High School for the Gifted ได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงด้านการสอนวิชาภูมิศาสตร์ และการนำนวัตกรรมมาใช้ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเรียนชาติพันธุ์ในการสอนทักษะชีวิต และโมเดล “30 นาทีทอง” เพื่อสอนทักษะชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย โดยคณะกรรมการกลางของสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์โฮจิมินห์จัดให้เป็นหนึ่งใน 80 ต้นแบบที่จำลองไปใช้ทั่วประเทศ

 

 

11.นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ประเทศไทย ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่บ้านโมโคคี บ้านมอโก้คี ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพื้นที่เขาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดตาก ใช้การจัดการเรียนรู้แก้ปัญหาชุมชน ส่งเสริมศักยภาพนักเรียนด้วยความรู้และทักษะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งครูเชื่อมั่นว่านี่เป็นแนวทางของความกตัญญูเพื่อตอบแทนแผ่นดินไทย

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า พระราชทาน ‘รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’