‘สยามเทคโนโพล’ เปิดผลสำรวจ ปชช.หนุน ‘เงินดิจิทัล’-ห่วงคนยากไร้เข้าไม่ถึง
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดตัว ‘สยามเทคโนโพล’ นำเสนอผลสำรวจเยาวชนอายุ16 ฝั่งธนบุรี-ตจว.1,210 ตัวอย่าง พบส่วนใหญ่หนุนรัฐบาลเดินหน้า ‘เงินดิจิทัล’ ขณะที่ตำนานทำโพล 'ดร.นพดล กรรณิกา' กังวลคนยากไร้ 6 ล้าน-อยู่ชายขอบ 31 จว. เข้าถึงยาก ส่อทุจริตเชิงนโยบาย
ผศ.ดร.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(วทส.:STC) และประธานคณะกรรมการสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล แถลงเปิดตัว สยามเทคโนโพล เพื่อสนับสนุนภารกิจของสถาบันการศึกษาและสังคมโดยรวม ในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนวัตกรรมการทำวิจัยเพื่อพัฒนางานวิชาการประยุกต์ที่ทันและล้ำยุคสมัย ซึ่งสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล เป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัยที่ทำวิจัยพัฒนาข้อมูลจากภาคประชาชน และองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ในทุกประเด็นที่สำคัญของสังคม
ทั้งนี้ สยามเทคโนโพล ได้เสนอผลสำรวจเรื่อง เสียงประชาชนต่อ “เงินดิจิทัล” โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปในย่านฝั่งธนบุรีและต่างจังหวัด 1,210 ตัวอย่าง ช่วง 12-17 ต.ค. 2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 5
โดยกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่า
- ร้อยละ 51.27 คือ ชาวบ้านทุกระดับรายได้ตามเกณฑ์อายุที่กำหนด
- ร้อยละ 48.28 คือ ชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย
- ร้อยละ 43.22 ชี้ว่ารัฐบาลได้คะแนนนิยมจากประชาชน
- ร้อยละ 38.70 คือ ร้านค้าโชห่วย ร้านขายของชำ
- ร้อยละ 34.99 คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ของกินของใช้
ส่วนข้อกังวลของประชาชนต่อผลกระทบจากมาตรการจ่าย “เงินดิจิทัล” ของรัฐบาล พบว่า
- ร้อยละ 53.89 คือ ประชาชนผู้ยากไร้ ห่างไกล เทคโนโลยี ชายแดน ชายขอบ เข้าถึงเงินดิจิทัลยาก
- ร้อยละ 43.04 คือ การทุจริตเชิงนโยบาย คนเฉพาะกลุ่มได้ประโยชน์
- ร้อยละ 41.95 คือ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพง หน่วยงานรัฐควบคุมไม่ได้
- ร้อยละ 40.96 คือ ประชาชนเสียงินัยการเงิน ขาดความรับผิดชอบ
ส่วนคำถามที่ว่า รัฐบาลควรทบทวนปรับปรุง หรือเดินหน้าต่อ ผลสำรวจ พบว่า
- ร้อยละ 40.78 เดินหน้าต่อ ไม่ต้องปรับปรุงอะไร
- ร้อยละ 32.82 เดินหน้าต่อ แต่ควรปรับปรุง
- ร้อยละ 26.40 ไม่มีความเห็น
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษาและอาจารย์หลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาลในแง่ของการกระจายทรัพยากร ครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึง แต่มีข้อที่น่าพิจารณาคือประชากรชายขอบตามแนวชายแดนใน 31 จังหวัด และพื้นที่อับเทคโนโลยีอย่างน้อย 6 ล้านคน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ที่ควรได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มนี้
ส่วนจุดอ่อนที่สุดในโลกไซเบอร์ ที่นำไปสู่ช่องโหว่ต่อนโยบายคือ อุปกรณ์และความตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จำกัดของประชาชนทั่วไป อุปกรณ์มือถือคุณภาพต่ำไม่มีการป้องกันระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพียงพอ
ดังนั้นแนวทางป้องกันคือ การใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งจะมีผลดีในมิติด้านโอกาสของรัฐบาล ที่จะทราบข้อเท็จจริงในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยนำข้อมูลมาออกแบบเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และมิติความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้น