!['นักกฎหมายอิสระ' หวั่น 'เงินดิจิทัล' เหมือน 'กระเป๋าหิน' ฉุดรัฐบาล 'นักกฎหมายอิสระ' หวั่น 'เงินดิจิทัล' เหมือน 'กระเป๋าหิน' ฉุดรัฐบาล](https://media.komchadluek.net/uploads/images/md/2023/10/maTxFjGowrjvZ1FziGen.webp?x-image-process=style/lg-webp)
'นักกฎหมายอิสระ' หวั่น 'เงินดิจิทัล' เหมือน 'กระเป๋าหิน' ฉุดรัฐบาล
นักกฎหมายอิสระ หวั่น 'เงินดิจิทัล' เหมือน 'กระเป๋าหิน' ใช้เงินมหาศาล หวังรัฐบาลทะลายกำแพงเดิมๆ ไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้ 'นักวิชาการ' ชี้ บล็อกเชน มีความโปร่งใส เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ ขณะที่่ นักวิชาการด้านไซเบอร์ แนะระวังข้อมูลสูญหาย ขอรัฐหาทางอุดช่องโหว่
สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(วทส.: STC) จัดเสวนาเรื่อง เงินดิจิทัล เดินหน้าอย่างไร โดย อาจารย์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ มองว่า นโยบายแจกเงินดิจทัล 10,000 บาท ดังนี้
- ใช้เงินมหาศาล
- ใช้ในรูปแบบที่ไม่มีการทดสอบมาก่อน
- ใช้ในรูปแบบที่มีช่องว่าง ช่องโหว่เต็มไปหมด
- ใช้ในลักษณะที่ทำให้ประชาชนตื่นเต้น เมื่อตื่นเต้นแล้วก็มีความคาดหวัง เมื่อทำไม่ดีก็จะโดนวิจารณ์อีก ในทางการเมืองตนมองว่าเป็นกระเป๋าหินมากกว่า
ทั้งนี้ แม้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และทีมงานตั้งใจที่จะผลักดัน แต่ก็มีความใจถึง จากการที่ตนได้เคยสนทนา กับ นายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาก่อน มองว่าทั้ง 3 คน คิดเร็ว ทำเร็ว วิสัยทัศน์กว้างไกล วิธีคิดการทำงานจึงเป็นเหตุผลสะท้อนว่ารัฐบาลชุดนี้ทำไมกล้าที่จะผลักดันกระเป๋าหิน เพราะเคยเป็นนักธุรกิจ จึงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ก็หวังว่าจะไม่เป็นกระเป๋าหินที่ฉุดรัฐบาล แต่จะเป็นกระเป๋าหินที่ขว้างปัญหาออกไปไกลๆ ทลายกำแพงเดิมๆ ไปสู่สิ่งใหม่ๆ
สำหรับโครงการเงินดิจิทัลนั้น เห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องกฎหมายทั้งหมด แต่กฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการช่วยตรวจสอบ ว่าเมื่อนำนโยบายนี้ไปใช้แล้วมีการทุจริต ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่ว่านโยบายผิดกฎหมาย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลอย่างหนักแน่นมาก
จึงฝากข้อสังเกตว่าดิจิทัลวอลเล็ต สุดท้ายถ้าจะตีความเป็นประเด็นทางกฎหมาย เป็นแค่ประเด็นที่จะตรวจสอบการทุจริตการใช้เงิน วัตถุประสงค์การทำผิดต่อกฎระเบียบ ไม่ใช่สิ่งที่จะนำกฎหมายมาครอบงำว่านโยบายนี้ดีหรือไม่ดี แต่ทั้งหมดก็บอกว่ากระเป๋าหินใบนี้ไม่เบา
บล็อกเชน เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ
ขณะที่ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science บอกว่า ครั้งแรกที่ได้ยินนโยบายเงินดิจิทัลที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง รู้สึกว้าวมาก และมองว่าการกำหนดนโยบายต้องมองเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เศรษฐกิจมีความเป็นธรรม หรือหลักเศรษฐศาสตร์ แล้วต้องเป็นนักการตลาดด้วย คือพูดแล้วปัง ประชาชนสนใจ ถือว่านโยบายเงินดิจิทัล มีทั้ง 3 ส่วนมาบรรจบกัน ก็คล้ายๆกับการกำเนิดบล็อกเชน ซึ่งบล็อกเชนก็เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่เกิดมา 10 กว่าปีที่แล้ว และปังเหมือนกัน เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เอามาทำเรื่องเงินดิจิทัลที่เรียกว่า บิตคอยน์ โดยสรุปก็คือบล็อคเชน ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันได้ มีความโปร่งใส เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ
ใช้บล็อกเชนต้องให้เหมาะกับงาน
ด้าน รศ.ดร.พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารเครือข่ายดิจิทัล กล่าวว่า การแจกเงินควรเลือกแจกในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามที่ควรจะเป็น แล้วเอาเงินไปสร้างนวัตกรรมบล็อกเชน ในเรื่องความโปร่งใส ถามว่าทำไมไม่จ่ายเงินสดเลย เราก็จะไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นเอาไปซื้ออะไร เอาไปทำอะไร ตรงไหนบ้าง ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ตนมองว่าเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประชาชน เพราะเราก็เริ่มใช้มาตั้งแต่เอาเงินเข้าระบบเป๋าตังแล้ว ดังนั้นแอพที่มีขึ้นมาจากนี้ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนว้าว พร้อมย้ำทิ้งท้ายว่า การใช้บล็อกเชนต้องเลือกให้เหมาะสมกับงาน ประเทศไทยยังขาดเทคโนโลยี นวัตกรรมดีอี อีกมากมาย เราเอาเงินมาใช้ไม่ถูกจุดที่มันควรจะเป็น
ไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์
ส่วน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษาและอาจารย์หลักสูตร Cybersecurity (CalCes) กล่าวว่า การใช้เงินดิจิทัล จะมีเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนักความปลอดภัยทางไซเบอร์ จะมองว่า ความเสี่ยง ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ หากใช้จ่ายผ่านระบบนี้จริง เห็นได้จากการสูญเสียเงินจำนวนมาก ในบัญชีออนไลน์ ทั้งนี้ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ตนพูดถึงมี 3 ส่วนคือ จุดอ่อน ช่องโหว่ และภัยคุกคาม ที่อาจจะเกิดจากการใช้ระบบเหล่านี้ รัฐจึงต้องระมัดระวัง และทุ่มงบส่วนหนี่งเข้าไปจัดการปัญหาที่อาจเกิดตามมา