ศุภมาส เผย เปิดอกคุย ปม 'อุเทนถวาย' นศ.ติดใจที่ศึกษาใหม่ มากกว่าย้าย-ไม่ย้าย
ศุภมาส ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ปม 'อุเทนถวาย' ยื่นเรื่องค้านย้ายออกจากพื้นที่จุฬาฯ คาด สัปดาห์หน้าหารือร่วมกันได้ ชี้ จะใช้แต่หลักนิติรัฐ-นิติธรรม ไม่ได้ ย้ำการเยียวยานักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด
กลับมาระเบิดอีกครั้ง หลังศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) วิทยาเขต “อุเทนถวาย” รวมตัวชุมนุมคัดค้านเรื่องการถูกคำสั่งศาลปกครอง ให้ย้ายออกจากพื้นที่ หลังจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2546 พร้อมบุุกยืนหนังสือขอความเป็นธรรมจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เมื่อวานนี้(30 ต.ค.2566)ยืนยันจะอยู่ที่เดิม ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจาก รมว.อว.
โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผย ถึงกรณีตัวแทนศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขต "อุเทนถวาย" เข้ายื่นเรื่องคัดค้านการย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อขอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหารือถึงทางออกร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน.ส.ศุภมาส ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะยึดหลักนิติธรรมแม้ว่าจะมีกฎหมายออกมา ต้องยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง
ฉะนั้นเรื่องการเยียวยานักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด “อุเทนถวายเป็นสบาบันเก่าแก่ที่ทุกคนเคารพบูชา ต้องมานั่งคุยกันเพื่อให้ทุกคนมีความสุข” อีกทั้งหากจะมีการขยับขยาย ซึ่งตนไม่ขอเรียกว่าเป็นการย้าย ก็เป็นการขยับขยายให้มีสถานที่ที่ใหญ่โตมากขึ้น “พยามจะทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขที่สุด โดยเฉพาะอุเทนถวาย” และทุกอย่างจะต้องเจรจากันด้วยเหตุด้วยผล พยายามจะให้ทุกอย่างจบลงด้วยดีมากที่สุด
ยังมีอีกหลายสถานที่ ที่มีความเหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นที่ได้คุยกับตัวแทนนักศึกษาอุเทนถวาย หลายคนถูกเล่าให้ฟังว่าจะถูกย้ายมาหลายสิบปีแล้ว แต่พอถึงเวลากลับไม่ได้สถานที่ที่ได้บอกไว้ ทุกคนเลยเกิดความไม่แน่ใจว่า หากย้ายแล้วจะมีที่ศึกษามั่นคงหรือไม่ ติดใจเรื่องนี้กันมากกว่าประเด็นจะย้ายหรือไม่ย้าย
“บ้านเมืองจะยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าหากบังคับใช้กฎหมายแล้ว เกิดความสงบหรือเปล่า ถ้าหากบังคับใช้แล้วเกิดสงครามหรือเกิดการตีกัน ก็คงต้องพยามหาทางออกที่ดีที่สุด”
น.ส.ศุภมาส กล่าวย้ำว่า เราให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังได้กำชับถึงเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยควบคู่กัน ส่วนจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการหารือหาทางออก นั้นตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้า อยู่ระหว่างรวบรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ทุกคนให้ความร่วมมือ ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย”