‘จีน-ไทย’ ร่วมมือเชิงลึก ‘ปรับหลักสูตรอาชีวะ’ 210 สาขาวิชา ตอบโจทย์ตลาด
'จีน-ไทย' ร่วมมือเชิงลึกเกื้อหนุนสร้างความเป็นดิจิทัล 'ปรับหลักสูตรอาชีวะ' ฝึกอบรมครู-อาจารย์ และผลิตนักศึกษาวุฒิคู่ขนาน ใน 210 สาขาวิชา ตอบโจทย์ตลาด ยกระดับการแข่งขันคนรุ่นใหม่ ประเดิมการผลิตเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ
สำนักข่าวซินหัว ปักกิ่ง 30 ต.ค. 2566 มีการประชุมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและการศึกษาระหว่างประเทศ หัวข้อการสร้างความเป็นดิจิทัลแก่การศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งของจีนเมื่อไม่นานนี้ รายงานแผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและความต้องการทางอุตสาหกรรมของจีนและไทย เข้ากับระบบอาชีวศึกษาของไทย
รายงานระบุว่า แผนการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาของจีนเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษาของไทย จำนวน 210 สาขา มีเป้าหมายช่วยเหลือไทยให้สามารถบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถทางทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการยกระดับทางอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) มีการจัดพิธีลงนามโครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 หรือ “โครงการ 210 จีน-ไทย” โดยคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ลงนามข้อตกลงกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอาชีวศึกษาของจีน 4 แห่ง และบริษัท ถังเฟิง อินเตอร์เนชันแนล เอ็ดดูเคชัน กรุ๊ป
โครงการ 210 จีน-ไทย มุ่งร่วมสร้างสาขาวิชาอาชีวศึกษาอันทันสมัย จำนวน 210 สาขา ภายใต้การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย และบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกระหว่างกลุ่มสถาบันอาชีวศึกษาของสองประเทศในการกำหนดหลักสูตร การฝึกอบรมครูอาจารย์ และการผลิตนักศึกษาวุฒิคู่ขนาน
สาขาวิชาส่วนหนึ่งของโครงการ 210 จีน-ไทย ซึ่งจะถูกปรับใช้เป็นชุดแรก ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่ เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีการซ่อมบำรุงทางรถไฟความเร็วสูงแบบครบวงจร อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ
สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทย กล่าวว่าอาชีวศึกษามีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก โดยความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างจีนและไทยนี้เกื้อหนุนการสร้างความเป็นดิจิทัล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ทั้งเชื่อมโยงกับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อย่างลึกซึ้ง
นอกจากนั้นความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการ จะช่วยให้ภาคอาชีวศึกษาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดการบ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถในไทยเพิ่มขึ้น ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการจ้างงานและรายได้ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ มีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและเสถียรภาพของสังคมไทย