เสี่ยโต้ง ‘สิริพงศ์’ เปิดโครงการส่งเสริมสนับสนุน สร้างขวัญกำลังใจ รร.เอกชน
เสี่ยโต้ง ‘สิริพงศ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ.เปิดโครงการส่งเสริมสนับสนุน สร้างขวัญกำลังใจ บุคลากรโรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภททั่วประเทศ เผย ศธ.เพิ่มทักษะแรงงาน 8 สาขา ตามแผน Quick Win ของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด “โครงการส่งเสริมสนับสนุน สร้างขวัญกำลังใจ ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้เรียนและนักเรียนโรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภททั่วประเทศ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566 และพิธีมอบประกาศนียบัตร นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ประจำปี 2566” โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ผู้บริหารสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาเข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ในการจัดงานในครั้งนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) จัดโครงการฯ ในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุน สร้างขวัญกำลังใจ ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน โรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภท ทั่วประเทศ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เป็นกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภททั่วประเทศ ในด้านการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
และร่วมประชาสัมพันธ์การจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบทุกประเภททั่วประเทศให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณชน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันแรงงานทักษะสูง ใน 8 สาขา ให้สอดรับกับหมุดหมายและแผนงาน Quick Win ของรัฐบาล ได้แก่
สาขาอาหาร โดยปรับหลักสูตรอาชีพระยะสั้น สาขาเกม ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียน ในการสร้างเกมที่ตรงกับความต้องการของตลาด, สาขาแฟชั่น สาขาศิลปะ สาขาการออกแบบ ส่งเสริมการเรียนการสอนออกแบบแฟชั่นตามอัตลักษณ์ความเป็นไทย ถูกใจตลาดโลก, สาขาดนตรี สาขากีฬา ส่งเสริมการสอนเพื่อสร้างพื้นฐานดนตรีและกีฬาในระดับมัธยมศึกษาให้เข้มข้น และสาขาหนังสือ ปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดและสถาบันหนังสือทั่วประเทศในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และจัดตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ
ทั้งนี้ การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ประเภทวิชาชีพ ประเภทเสริมสร้างทักษะ ประเภทศิลปะและการกีฬา เป็นการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นตามหลักสูตรมีความพร้อมมากในการช่วยเสริมนโยบายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ สช. หาแนวทางวิธีการสนับสนุนส่งเสริม โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนเอกชนนอกระบบทุกประเภททั่วประเทศที่อยู่ภายใต้กำกับของ สช.ศธ. นั้น ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร ครูผู้สอน บุคลากร ผู้เรียน และนักเรียน นั้นล้วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคมและประเทศชาติ อีกทั้งยังได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งเน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมการเรียนทางด้านทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ทักษะดนตรี การแสดงศิลปะ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ และส่งเสริมการเรียน ทุกช่วงวัย เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เน้นผู้เรียนจบแล้วประกอบอาชีพทำงานได้จริง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับภายในงานมีผู้บริหาร ศธ. และหน่วยงานภายนอกเข้าร่วม อาทิ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นางสุมิตรา ทองแสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา นายพรชัย พิศาลสิษฐ์กุล นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) เป็นต้น