ศธ. เปิดรับฟังความเห็นประชาชน ต่อ ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ’ ฉบับใหม่
ศธ.ชวนมาร่วมปรับทิศชี้ทางการศึกษาไทย ผ่านเวทีเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ต่อ ‘ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ’ ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ระหว่าง 6-19 พ.ย. 66 เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอร่างกฏหมายต่อครม.ต่อไป
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา(เลขาฯสกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ขอเชิญ ร่วมรับฟังความคิดเห็น “ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีและกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเปิดให้ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศสืบไป โดยสภาการศึกษา กำหนดช่วงระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 6-19 พฤศจิกายน 2566 มีรายละเอียด ดังนี้
ด้วยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยการศึกษาเเห่งชาติ ประกอบกับมติที่ประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564 เพื่อให้สอดคล้องกับเเนวทางการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงขอเชิญชวนประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมเเสดงความคิดเห็นต่อหลักการเเละสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564 อันจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาในกระบวนการเสนอร่างกฎหมาย เเละเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป
เปิด ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับกฤษฏีกา
ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564 มาจากฐานคิดของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ดังนี้
1.ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....ดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มุ่งประสงค์ให้สอดรับกับประเด็นการปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดไว้ในตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 258 จ. โดยสรุป 4 เรื่อง ได้แก่
1. การพัฒนาเด็กปฐมวัย
2. การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
3. การคัดกรอง ผลิตพัฒนาครูและคณาจารย์ให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
4. การจัดการเรียนการสอนและโครงสร้าง ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นกฎหมายแม่บททางการศึกษาตามเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา 4 เรื่อง ได้แก่
1.ยกระดับคุณภาพการศึกษา
2.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
3.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
4.ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบ เพื่อมุ่งหวังที่จะยกระดับและผ่าวิกฤตทางการศึกษาให้ตอบสนองสภาพการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
2.การดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้คงหลักการพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่สำคัญต่างๆ อาทิ หลักการกระจายอำนาจทางการศึกษา หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา หลักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต
และเพิ่มกลไกที่เป็นการเสริมจุดแข็งในกฎหมายให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาผู้เรียนในปัจจุบัน เน้นกลไกการสนับสนุนที่เอื้อให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีอิสระและมีคุณภาพ ความยืดหยุ่นของระบบการศึกษาที่ตอบสนองเป้าหมายการเรียนของผู้เรียนในทุกช่วงวัย เน้นการสร้างกลไกการบริหารทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดในเชิงนโยบายและจุดถ่วงดุลย์เพื่อการสร้างธรรมาภิบาลในระบบการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยสรุปดังนี้
1.ด้านการจัดการเรียนการสอน
เป้าหมายการจัดการศึกษาเน้นให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่เติบโตตามช่วงวัย สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสภาพการณ์ของโลกที่ผันผวนและไม่อาจคาดเดาได้ หรือคาดเดาได้ยาก
สถานศึกษาสามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างที่มีความเป็นอิสระคล่องตัว โดยการเพิ่มอำนาจในกับคณะกรรมการสถานศึกษา การบริหารการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานศึกษา การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่า โดยให้มีการคำนวณเงินขั้นต้นที่ทำให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ในสถานการณ์จริงหรือการเรียนรู้เชิงรุก ทางเลือกที่หลากหลายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มุ่งต่อสมรรถนะตามช่วงวัยและบริบทของสถานศึกษา การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา อำนาจในการปฏิเสธในการดำเนินการตามโครงการที่ทำให้กระทบการจัดเรียนการสอน แผนการเรียนที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถรู้จักตนเองและสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัดและความสนใจ
ปรับเปลี่ยนบทบาทของครู เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ระบบการผลิตครูที่เน้นการทำให้ครูเกิดสมรรถนะและสามารถจัดการเรียนการสอนในเชิงสมรรถนะ
กลไกการช่วยเหลือทางวิชาการแก่ครูและสถานศึกษา คือ มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาแห่งชาติ แทนกรมวิชาการเดิมที่ถูกยุบเลิกไป
2.ความยืดหยุ่นของระบบการศึกษา ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของระบบทางการศึกษาที่ประสานสอดคล้องกับการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายของผู้เรียน (purposeful)เช่น ระบบสะสมหน่วยกิต การเทียบเคียง การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน
3.วางนโยบายในเรื่องการอาชีวศึกษาให้มีความชัดเจน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนดีมีความสุขไปสู่เป้าหมายของการสร้างงานสร้างอาชีพหรือการมีงานทำในตลาดแรงงาน รวมถึงการเป็นผู้ประกอบกิจการ
4.กำหนดกลไกในการบริหารทรัพยากรทางการศึกษาเชิงนโยบายให้เกิดความคุ้มค่าและจุดถ่วงดุลเพื่อเกิดธรรมาภิบาลในระบบการศึกษา โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กลไกในการจัดทำ ติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ และให้คนในจังหวัดที่มีความสนใจด้านการศึกษาได้รวมตัวกันในการทำกิจกรรมด้านการศึกษาร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐให้มีความโปร่งใส
5.ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิตของผู้เรียนในทุกช่วงวัยโดยกำหนดหน้าที่ บทบาทของหน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียนทุกช่วงวัย
6.ไม่มีการกำหนดเรื่องโครงสร้างไว้ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....ทำให้โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค
เเสดงความคิดเห็นในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...
โปรดเเสดงความคิดเห็นโดยระบุเลือก “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ในหลักการเเละสาระสำคัญรายหมวดของร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ ท่านสามารถอ่านสรุปสาระสำคัญซึ่งเป็นจุดเน้นของเเต่ละหมวดได้ก่อนเเสดงความคิดเห็น
จุดเน้น หมวด1วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา
√ การจัดการศึกษาเน้นการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้อย่างบูรณาการกัน หรือที่เรียกว่า “สมรรถนะที่เติบโตช่วงวัย” และกำหนดรายละเอียดในแต่ละช่วงวัยเป็น ๗ ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงการศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ ช่วงวัยที่สี่ (เทียบได้รับระดับประถมศึกษา) เริ่มต้นในการสร้างความรู้ทางวิชาการ และเริ่มหาลู่ทางในการประกอบอาชีพ ช่วงวัยที่ห้า (เทียบได้รับมัธยมศึกษาตอนต้น) ต้องรู้จักตนเองสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาต่อหรือเส้นทางอาชีพและการทำงานได้(มาตรา7,มาตรา8)
√ เพิ่มสิทธิและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา เช่นจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการศึกษา (เดิมถูกจำกัดโดยสตง. ปัจจุบันจะส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาได้มากขึ้น(มาตรา11 (4),มาตรา12)
√ กำหนดหลักการพื้นฐานในการบริหารและจัดการของสถานศึกษาของรัฐให้มีความชัดเจน โดยเน้นถึงความอิสระคล่องตัว การสนับสนุนทรัพยากรของที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สิทธิปฏิเสธในการดำเนินโครงการจากส่วนกลางที่เป็นการเพิ่มภาระหรือกระทบต่อคุณภาพการศึกษาที่จะจัดให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามช่วงวัย(มาตรา14)
√กำหนดหลักประกันของเงินเดือน ค่าตอบแทน เงินหรือสิทธิประโยชน์ของครูโรงเรียนเอกชนให้สอดคล้องกับครูสถานศึกษาของรัฐ(มาตรา16)
√ กำหนดให้มีการรองรับการรวมตัวของเอกชนที่มีความสนใจในการศึกษาของแต่ละจังหวัด (มาตรา18)เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและร่วมการทำงานด้านการศึกษากับภาครัฐ
1. หมวด1 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
จุดเน้น หมวด 2 สถานศึกษา
√ กำหนดหลักการเรื่องสภาพแวดล้อมทางการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เช่น สภาพและสิ่งแวดล้อมและสภาวะที่ปลอดภัย อุปกรณ์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่พอเพียง การให้สถานศึกษาของรัฐสามารถใช้หรือแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีหรือห้องปฏิบัติการได้(มาตรา20)
√ กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต้นของงบประมาณที่พอเพียงแก่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สถานศึกษา(มาตรา26)
√ กำหนดให้มีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพิเศษสำหรับการใช้เงินรายได้ของสถานศึกษา(มาตรา29)
2.หมวด2 สถานศึกษา
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
จุดเน้น หมวด 3 ครูเเละบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
√ กำหนดหน้าที่ของครู จากการสอนเป็นผู้เอื้ออำนวย (facilitator)ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะตามช่วงวัย(มาตรา32)
√ เน้นการหล่อหลอมการผลิตครูในรูปแบบสมรรถนะ(มาตรา38) จึงกำหนดคุณลักษณะทั่วไปของครู และคุณลักษณะเฉพาะของครูในแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน(มาตรา34,มาตรา37)
√ เน้นให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ(ครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์) ต้องรับการพัฒนาตามรอบระยะเวลาและอย่างต่อเนื่อง(มาตรา39,มาตรา42,มาตรา43)
√ กระบวนการที่มีความรับผิดรับชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาต่อผู้เรียน จึงกำหนดให้มีระบบการติดตามและประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติหน้าที่ของครู ผู้บริหารสถานศึกษา/รอง ผู้บริหารการศึกษา/รอง และบุคลากรทางการศึกษาแบบครอบคลุมทั้งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ข้อมูลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และชุมชน(มาตรา44)
3. หมวด3 ครูเเละบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
จุดเน้น หมวด 4 การจัดการศึกษา
√ ปรับระบบการศึกษาตามเป้าหมายของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีเป้าหมาย (purposeful)ได้แก่ การศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต(มาตรา47)
√ ปรับระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและโลกในยุคปัจจุบัน โดยให้มีระบบการเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน รวมทั้งการสะสมหน่วยการเรียน (มาตรา55)
√ จัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เพื่อเป็นหน่วยของรัฐที่จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเชิงสมรรถนะตามเป้าหมายการจัดการศึกษาตามช่วงวัยของผู้เรียน(มาตรา57,มาตรา58)
√ กำหนดให้มีแผนการเรียนที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความต้องการและความถนัดในการเรียนต่อขั้นสูงหรือทักษะวิชาชีพขั้นสูงในสาขาต่าง ๆ(มาตรา62)
√กำหนดให้มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุก (มาตรา64)
4. หมวด4 การจัดการศึกษา
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
จุดเน้น หมวด 5 หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
√ กำหนดให้การจัดระเบียบบริหารของกระทรวงศึกษาธิการต้องเอื้อต่อการจัดการศึกษาแต่ละช่วงวัยให้มีการบูรณาการกัน(การศึกษาขั้นพื้นฐานสายสามัญ การศึกษาขั้นพื้นฐานสายอาชีพ) และทำให้สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา(มาตรา69)
√ ให้กระทรวงศึกษาให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการศึกษาสายอาชีพ(มาตรา71 -มาตรา73) ตอบสนองต่อการมีงานทำในลักษณะที่เป็นเจ้าของกิจการและตอบสนองความต้องการของภาคแรงงาน
√ ให้หลักการในการบริหารจัดการข้อมูลทางการศึกษาขนาดใหญ่(big data)เพื่อเป็นฐานในการกำหนดนโยบายและบริหารทรัพยากรทางการศึกษาให้มีความคุ้มค่า(มาตรา77)
5.หมวด 5 หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
จุดเน้น หมวด 6 แผนการศึกษาเเห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา
√ กำหนดหลักการในการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และกำหนดกระบวนการในการกำกับ ติดตามตรวจสอบการดำเนินการ ความสำเร็จ ประเมินผลของแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยเน้นการใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (มาตรา79 -มาตรา87)
6.หมวด 6 แผนการศึกษาเเห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
จุดเน้น หมวด 7 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาเเห่งชาติ
√ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เพื่อยกระดับให้เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องระดับชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อบูรณาการดำเนินงานด้านการศึกษาที่มีอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ตั้งแต่ในเรื่องการกำหนดนโยบาย แผนการศึกษาแห่งชาติ งบประมาณด้านการศึกษา อัตรากำลัง และกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษา(มาตรา88 -มาตรา96)
7.หมวด 7 คณะกรรมการนโยบายการศึกษาเเห่งชาติ
เห็นด้วย
ไม่เห็นด้วย
ข้อเสนอเเนะเพิ่มเติม
ท่านสามารถเเสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอเเนะเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่660/2564 โดยการเขียนอธิบายได้ตามกรอบด้านล่างนี้
โปรดให้ข้อเสนอเเนะเพิ่มเติม ในประเด็นที่ท่านสนใจ หรือต้องการเห็นในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
(ถ้ามี) .... ร่วมตอบแบบรับฟังความคิดเห็นได้ที่:https://shorturl.at/hvzE2