สพฐ. ขับเคลื่อน 'เรียนดี มีความสุข' สู่ภูมิภาค
ธนุ รักษาการแทนเลขาฯ กพฐ. ลงพื้นที่เชียงใหม่ จับมือผู้บริหาร ศธ. ขับเคลื่อน 'เรียนดี มีความสุข' สู่ภูมิภาค ย้ำบุคลากรส่วนภูมิภาค เป็นหัวใจสำคัญ ในการพัฒนาการศึกษาชาติ ชาวการศึกษาทุกหน่วยงาน ต้องบูรณาการ ทำงานร่วมกัน
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงาน พร้อมมอบนโยบายแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 1 โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลการดำเนินงานตามภารกิจและจุดเน้น
พร้อมกันนี้ ได้ร่วมการเสวนาการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบหมายแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ) “เรียนดี มีความสุข” แก่ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด ทั่วประเทศ
โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายวรัท พฤกษาทวีกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายคมกกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และนายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 ร่วมการเสวนา
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า นับแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานระดมความคิดเห็น เพื่อให้บุคลากรได้ร่วมกันวิเคราะห์และกำหนด นโยบายและจุดเน้น Quick Win ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม บนฐานข้อมูลทั้งด้านคุณภาพวิชาการ บุคลากร และงบประมาณ ที่เป็นปัจจุบัน ขอให้ผู้บริหารเขตทุกท่าน ให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญจำเป็นเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจ ขอให้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนโรงเรียน เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและครบถ้วน
.
“ทั้งนี้ บุคลากรส่วนภูมิภาค ทั้งศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ชาวการศึกษาทุกหน่วยงานต้องบูรณาการงานร่วมกัน โดยส่วนกลางได้พยายามเชื่อมโยงภารกิจร้อยรัดกันแล้ว หากศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ประธานคลัสเตอร์ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมมือกันกำหนดกิจกรรมโครงการที่สนองความต้องการของพื้นที่ เราก็จะสร้างผู้เรียนที่เรียนดี มีความสุข เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศได้อย่างแน่นอน” รักษาราชการแทน เลขาธิการ กพฐ. กล่าว