ข่าว

แยก ‘วิชาประวัติศาสตร์’ เบ้าหลอม ‘นักเรียน’ ให้รักชาติ-สถาบัน เช็กที่นี่

แยก ‘วิชาประวัติศาสตร์’ เบ้าหลอม ‘นักเรียน’ ให้รักชาติ-สถาบัน เช็กที่นี่

21 พ.ย. 2566

สพฐ.รับลูก ‘อนุทิน’ MOU 4 กระทรวง ช่วยปลูกฝังนักเรียนรักชาติ ยึดมั่นสถาบันหลัก สั่งนโยบาย ผอ.เขต ผอ.โรงเรียน สอนประวัติศาสตร์เชิงรุก Active Learning เริ่มปีงบฯ 67-68 แยก 'วิชาประวัติศาสตร์' สอนเด็กกว่า 6.5 ล้านคน เช็กรายละเอียดชั่วโมงเรียนแต่ละช่วงชั้นได้ที่นี่

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่ รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจใน ประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ 

โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” ระหว่าง 4 กระทรวงหลัก มี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี) ร่วมลงนามที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานั้น

 

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนกว่า 6.5 ล้านคน ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลักอย่างมาก ได้กำหนดเป็นนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ปีงบประมาณ 2567-2568 ซึ่งทันทีที่รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวงได้ลงนาม MOU ช่วงเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 สพฐ. พร้อมรับลูก สั่งการนโยบายแก่ผู้บริหาร สพฐ. ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ณ ที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตพื้นที่ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ

 

สำหรับจุดเน้นและนโยบายของ สพฐ. ปีงบ 67-68 นี้ สองข้อแรก เราให้ความสำคัญต่อการสร้างสำนึกความเป็นไทย ภาคภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลัก โดยข้อที่ 1 การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ซึ่งทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีกิจกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันในโรงเรียน

 

 

และข้อที่ 2 การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองคุณภาพ รู้จักรากเหง้าตัวตน ประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย เหมาะกับเด็กยุคใหม่ ซึ่งการที่รัฐบาลมีวิสัยทัศน์บูรณาการแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง 4 กระทรวงดังกล่าว เป็นการช่วยลดภาระครู เพราะจะมีภาคีเครือข่ายจากกระทรวงต่างๆ เป็นแนวร่วม สนับสนุนองค์ความรู้ สื่อและแหล่งการเรียนรู้ ช่วยให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งตนได้กำชับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมเปิดรับการทำงานร่วมกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับนักเรียนเป็นสำคัญ

 

สอน Active Learning วิชาประวัติศาสตร์

มั่นใจว่าโรงเรียนทุกแห่งมีการเรียนการสอนที่ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ ที่เป็นวิถีปฏิบัติของโรงเรียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายวิชาประวัติศาสตร์ ที่ สพฐ. ได้ประกาศให้สถานศึกษาจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน กำหนดให้แต่ละระดับการศึกษา จัดเวลาเรียนดังนี้

 

  • ระดับประถมศึกษา ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง)
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี 
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง 

 

 

ในการนี้ ได้มอบหมายรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช) และทีมวิชาการพัฒนารูปแบบแนวทางการปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติ และได้สั่งการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียน ดำเนินการทบทวนรูปแบบ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ทำอยู่ว่าเป็นอย่างไร ให้ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อนักเรียนได้รู้จักรากเหง้า เข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและประเทศชาติในแง่มุมต่างๆ 

 

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้มีการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ เชิงประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ท่องจำตามหนังสือ คลิปวิดีโอ หรือจำตามที่ครูบอกเล่า เพื่อนักเรียนจะได้เข้าใจและเห็นบทเรียนจากเรื่องราวในอดีต เชื่อมโยงความเป็นมาเป็นไปสู่สังคมปัจจุบัน เห็นแนวทางภูมิปัญญาที่เป็น Soft Power เห็นคุณค่าอดีตที่ต่อยอดสู่อนาคต ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และหน้าที่พลเมืองได้