ดัน14 สน.คุม 26 วท. ชู 'มีนบุรีโมเดล' ปราบ 'นักเรียนช่างตีกัน' หวังผลใน 1 เดือน
พล.ต.ต.ชรินทร์- ผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวะ ร่วมปรับ ‘มีนบุรีโมเดล’ กำหนดแผน แนวทางแก้ปัญหา ‘นักเรียนช่างตีกัน’ ขีดเส้น 1 เดือนวัดผลงาน 14 สน. รับผิดชอบ 26 สถาบันฯ ทั่วกทม. พร้อมเตรียมรับมือก่อเหตุความรุนแรง เลียนแบบ หนังดัง 4 King ภาค 2 ฉาย 30 พ.ย.
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) ร่วมกับนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผอ.สำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และตำรวจในพื้นที่ ซึ่งมีวิทยาลัยตั้งอยู่ทั้ง 14 สน.ประกอบด้วย
สน.มีนบุรี สน.ปทุมวัน สน.หัวหมาก สน.ดุสิต สน.สามเสน สน.พระโขนง สน.ทองหล่อ สน.บางนา สน.บางกอกใหญ่ สน.หลักสอง สน.หนองค้างพลู สน.บางบอน สน.ธรรมศาลา และ สน.แสมดำ
นอกจากนี้ สน. ฉลองกรุง ได้ส่งรองผู้กำกับการปราบปราม เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ทั้งยังร่วมประชุมถึงแนวทางการ แก้ไขปัญหาเด็กตีกันรวมถึงกระแสตั้งรับภาพยนตร์โฟร์คิงที่จะเข้าฉายภายในโรงภาพยนตร์เร็วๆนี้
โดย พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวก่อนการประชุมว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหานักเรียนอาชีวะทะเลาะวิวาทตีกัน ทางตำรวจนครบาล จึงจัดประชุมครั้งเพื่อกำหนดแผนและแนวทางในการแก้ปัญหา โดยจะบูรณาการร่วมกับสถานศึกษาและองค์กรอื่นๆ อาทิ ชุมชน วัด ครอบครัว
ในการประชุมครั้งนี้ จะนำ มีนบุรีโมเดล หรือแผนการแก้ไขปัญหา ที่จัดทำขึ้นโดยวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี และ สน.มีนบุรี นำมาปรับใช้กับทุกสถานศึกษาอาชีวะในแต่ละท้องที่ จากความสำเร็จที่สามารถช่วยแก้ปัญหานักเรียนตีกันของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เรียนมีระเบียบวินัย มีความประพฤติที่ดี และใส่ใจในการเรียนรู้มากกว่าที่จะก่ออาชญากรรมหรือกระทำผิดกฎหมาย
วท.มีนบุรี ใช้ มีนบุรีโมเดล ลดนักเรียนช่างตีกัน
ภายหลังการประชุมนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่าวันนี้เชิญผู้บริหารอาชีวะ ผู้บริหารเทคนิคมีนบุรี และตำรวจ 14 สน. มาพูดคุยปรึกษากันเพื่อปฏิบัติตามแนวทางมีนบุรีโมเดลที่ทำแล้วได้ผลดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงอยากนำโมเดลนี้ไปใช้ลดความขัดแย้ง
สำหรับรูปแบบของมีนบุรีโมเดล เป็นเรื่องความจริงจัง ตั้งใจ ของผู้บริหารระดับกระทรวงของอาชีวะทุกภาคส่วน และความจริงจังของตำรวจ ผู้ปกครอง ในการช่วยกันทำให้นักเรียน นักศึกษา ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงความขัดแย้ง และปัญหาทะเลาะวิวาทหมดไป
ทั้งนี้วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ก่อนหน้านี้ ก็มีการทำร้ายกันพอสมควร แต่พอใช้ “มีนบุรีโมเดล” สถิติการขัดแย้งกันลดลง จึงคิดว่าเป็นโมเดลที่ได้ผล อยากให้ สน. อื่นๆ นำไปปฏิบัติตาม สิ่งที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งก่อนใช้โมเดลนี้ มีคดี 6 คดี แต่หลังใช้โมเดล คดีลดลงเหลือ 1-2 คดี ซึ่งความสำเร็จเกิดจากครู อาจารย์ และภาคีเครือข่าย ร่วมมือกัน และไม่ได้วัดที่ปริมาณคดีลดลงอย่างเดียว แต่มีการทำกิจกรรมให้นักเรียนมีเวทีแสดงความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
มีนบุรีโมเดล เริ่มมาราว 1 ปีแล้ว อุปสรรคก็มี แต่ปัญหาได้รับการแก้ไข หากมีเด็กเกเรมาชักนำ ผอ.จะคัดออก ส่วนปัญหาจะหมดใน 3 เดือนนี้หรือไม่ พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่า ก็คาดหวังให้เบาบางลง ตั้งเป้าให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน จากนั้น 3 เดือนจะมีการวัดผลอีกครั้ง ตอนนี้สถาบันฯที่นำ มีนบุรีโมเดล ไปใช้มีทั้งหมด 26 สถาบันทั่วกรุงเทพมหานคร
การรับมือหรือมาตรการเชิงรุก ทางตำรวจทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปค้นหากลุ่มเสี่ยง จับกุม ด้านฝ่ายปราบปรามจะตั้งด่านตรวจค้นตามสถานที่สาธารณะควบคู่กัน
ส่วนใหญ่เหตุทำร้ายกันที่ผู้ก่อเหตุมักเป็นเยาวชน จะปรับกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษหรือไม่ พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่า เรื่องกฎหมายต้องผลักดันในสภา ต้องพิจารณาหลายภาคส่วน ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน
รับมือเหตุรุนแรงจากหนังดัง 4 king ภาค 2
ส่วนผลระยะใกล้ที่จะมีการฉายภาพยนต์ “4 king ภาค 2” ทาง บช.น. ก็วางมาตรการป้องกันเหตุรอบปฐมทัศน์ วันที่ 30 พ.ย. และรอบต่อไป เพื่อป้องกันเหตุที่อาจมีลักษณะการเลียนแบบ ใช้ความรุนแรง อยู่ระหว่างดูว่ามาตรการเดิมได้ผลหรือไม่
ด้านนายทวีศักดิ์ ผอ.สำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการคุยกับภาคีเครือข่ายจับมือร้วมกันแก้ปัญหา ความใกล้ชิดของ ครู ผู้ปกครอง ต้องเข้มข้นในการกวดขันนักเรียน และดูแลเป็นรายบุคคล สำหรับ “มีนบุรีโมเดล” มีการดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ประกาศรับสมัครนักศึกษา โดยมีระเบียบตามข้อ 8 ของกระทรวงศึกษา มีการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ตรง คัดคนที่ตั้งใจเข้ามาเรียน ผ่านการมีการติดตามใกล้ชิด มีการไปเยี่ยมบ้าน ประชุมผู้ปกครองทุกภาคเรียน นอกจากนี้ ยังมีสมาคมศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง ทำกิจกรรมเป็นประโยชน์ ช่วยให้ทุนการศึกษาน้อง