ข่าว

เปิดที่มา ‘มีนบุรีโมเดล’ ให้ความสำคัญเด็กช่าง ลดปัญหา ‘นักเรียนตีกัน’

เปิดที่มา ‘มีนบุรีโมเดล’ ให้ความสำคัญเด็กช่าง ลดปัญหา ‘นักเรียนตีกัน’

24 พ.ย. 2566

พ.ต.อ.โฆษิต บุญทวี เปิดที่มา 'มีนบุรีโมเดล' หลังติดตามพฤติกรรมเด็กช่างกว่า 3 เดือน ส่งตำรวจเข้าถึงเปิดใจ ทำงานใกล้ชิด ชี้ให้เห็นคุณค่าวิชาชีพที่เรียน จับมือสถาบันอาชีวะร่วมสร้างบรรยากาศที่ดี ขณะที่ ผกก.สน.มีนบุรี ผุดไอเดีย ให้เด็กรู้สึกภูมิใจวิชาที่เรียน

ภายหลังจากที่ทาง กองบัญชาการตำนวจนครบาล ได้ เชิญตำรวจ 14 สถานี และวิทยาลัยอาชีวะ 3 สถาบัน ร่วมหารือ “ปัญหาเด็กช่างตีกัน” พร้อมชูนโยบาย มีนบุรีโมเดล มาตรการป้องกันของ “บก.น.3-เทคนิคมีนบุรี” ต้นแบบความสำเร็จให้กับพื้นที่อื่นๆนั้น

 

พ.ต.อ.โฆษิต บุญทวี รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 เปิดเผยถึง “มีนบุรีโมเดล เรารักอาชีวะ” ว่าโมเดลดังกล่าว สืบเนื่องมาจากพื้นที่มีนบุรี มีการทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวะอยู่เป็นระยะ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ได้มีการพยายามที่จะถอดบทเรียน และสาเหตุถึงการก่อเหตุตีกัน มีการวางกำลังในจุดเสี่ยง ตั้งแต่หน้าโรงเรียน เส้นทางการกลับบ้าน ร่วมไปจุดพักคอย หรือจุดที่มั่วสุ่มกัน แต่ปรากฎว่าการก่อเหตุกลับไม่ได้ลดลงเลย ต่อมาเราได้ถอดบทเรียนครั้งสำคัญกับเหตุการณ์เด็กอาชีวะตีกัน ในพื้นที่มีนบุรี สามารถจับตัวผู้ก่อเหตุ และตรวจค้นที่พัก ปรากฎว่าเราพบอาวุธมากมาย มีทั้งมีีดและปืน

 

เปิดที่มา ‘มีนบุรีโมเดล’ ให้ความสำคัญเด็กช่าง ลดปัญหา ‘นักเรียนตีกัน’

ทางกองบังคับการตำรวจนครบาล3 จึงตระหนักว่า เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเด็กอาชีวะนั้น ควรจะถูกยกระดับขึ้น เพราะเพียงแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ตนและ พ.ต.อ.กฤษ ก้อมน้อย ผู้กำกับมีนบุรี จึงส่งเรื่องถึงกระทรวงการศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 

 

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เข้ามาเป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจกับสถาบันการศึกษา ทำให้สถาบันเริ่มเปิดใจ ที่จะพูดคุยถึงปัญหา ปมความขัดแย้ง ร่วมไปถึงนักเรียนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง และคู่อริต่างสถาบัน รวมไปถึงจุดมั่วสุ่มต่างๆ ที่นักเรียน จะไปมั่วสุ่มก่อเหตุ เส้นทางการเดินทางของเด็กกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรวบรวมข้อมูลตรงนี้ให้ได้เสียก่อน รวมไปถึงการวางกำลังตรวจตราในจุดต่างๆ เส้นทางที่นักเรียนเดินทางกลับ และการไปตรวจเยี่ยม ไปเป็นเพื่อนนั่งคุย ให้ความรู้ ให้พวกเขามองเห็นอนาคต ว่าโตไปในสายงานของพวกเขาเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างไร

 

มีการเข้าไปสอนวิชาจริยธรรม จากประสบการณ์ของตำรวจ มันทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นพี่เป็นน้อง ไม่ใช่ตำรวจกับนักเรียน หรือกลุ่มที่เฝ้าระวัง ส่วนสถานศึกษาก็เริ่มมีการปรับ ในเรื่องเครื่องแต่งกาย วิชาการเรียน การสอน และกิจกรรม การเดินทางกลับบ้าน การติดตามนักเรียนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาออกจากบ้านมาถึงโรงเรียน และออกจากโรงเรียนกลับถึงบ้าน เราทำอยู่แบบนี้ ประมาณ 3 เดือน ก็เห็นผลได้ชัดเจน การใช้ความรุนแรงในเด็กอาชีวะแทบจะไม่มีเลย หลังจากกระบวนการดังกล่าว สิ่งที่ทำต่อมา คือการสร้างภาพลักษณ์ของพวกเขา ที่มีต่อสังคม ร่วมไปถึงเสริมวิชาชีวิตให้พวกเขา

 

 

โดย พ.ต.อ.กฤษ ก้อมน้อย ผกก.สน.มีนบุรี ได้ผุดไอเดีย ให้เด็กเหล่านี้มาช่วยซ่อมแอร์ที่โรงพัก เปลี่ยนน้ำมันเครื่องให้กับรถตำรวจที่ใช้ในงานราชการ หรือล่าสุดพาน้องๆนักเรียนไปซ่อมจักรยายนต์ ให้ประชาชนในชุมชน นอกจากจะเป็นการฝึกฝีมือให้กับเด็กแล้ว พวกเขายังรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชาวบ้านเองก็รู้สึกดีต่อเด็กอาชีวะมากขึ้นอีกด้วย

 

 

ด้าน พ.ต.อ.กฤษ ก้อมน้อย ผกก.สน.มีนบุรี เปิดเผยว่า สำหรับการป้องกันเหตุ มันเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่การกระทำหรือความร่วมมือ เราต้องมีความจริงใจ เมื่อเรามีความจริงใจ สถานศึกษาก็จะให้ข้อมูลเราดี ทั้งจุดสุ่มเสี่ยง หรือนักศึกษาที่พ้นสภาพไป และอาจจะกลับมาสร้างปัญหาให้ โดยการกลับมาปลูกฝังรุ่นน้อง

 

 

นอกจากที่เราจะคุยกับสถาบันการศึกษา เราต้องคุยกับผู้ปกครองด้วย เพราะเด็กเหล่านี้ เราจะมองแค่ปัญหาที่สถาบันไม่ได้ บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนครอบครัวหย่าร้าง ไม่มีที่พึ่ง ก็ต้องการหาที่พึ่ง ถ้าได้รุ่นพี่ดี ก็พากันไปในทางที่ดี แต่ถ้าได้พี่ไม่ดี ก็นำไปอีกทาง ดังนั้น การทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ถือเป็นเรื่องสำคัญ และขอดีของการประสานผู้ปกครอง และคนในชุมชนคือ เมื่อเกิดเหตุมีการร่วมตัว ผู้ปกครองเหล่านี้จะแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุก่อเกิดการสูญเสีย

 

 

“ส่วนการที่ให้น้องมาฝึกซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ก็เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ และได้ฝึกปรือฝีมือ ทำให้บรรยากาศระหว่างเรากับเขาดีขึ้นมาก ตอนนี้เวลาเข้าไปในโรงเรียนมีการทักทาย ยกมือไหว้ มีสัมมาคาราวะ ซึ่งเป็นผลดีกับเราทั้ง 2 ฝ่าย จึงเชื่อว่าหากมีการนำโมเดลนี้ ไปใช้ในพื้นที่อื่น ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะช่วยแก้ปัญหาไปได้ อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะบางตัวแปรอาจจะไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าน่าจะช่วยได้”