ชัดเจน ‘ก.ค.ศ.’ เดินหน้า ใช้เกณฑ์ PA ‘ประเมินครู’ เริ่ม ปี 2567
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เผย ก.ค.ศ. เดินหน้า 'ใช้เกณฑ์ PA' ปรับระบบ เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายตามความถนัด ‘ประเมินครู’ เริ่มปี 2567 ชี้ให้ความสำคัญผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก ควบคู่วัดเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนของครู มั่นใจ ศธ.จ่อใช้ประเมินวิทยฐานะ ด้วย
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยผลการหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในประเด็น การปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากข้าราชการครูฯ ทั่วประเทศในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะและข้อมูลจากส่วนราชการ
โดยสำนักงานงาน ก.ค.ศ. ได้เสนอแนวทางการปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะฯ ให้พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และได้ข้อสรุปให้เดินหน้าใช้เกณฑ์ PA โดยให้ดำเนินการปรับปรุงระบบการประเมินฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ใน 6 ประเด็น ได้แก่
1. เพิ่มห้องเรียนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สำหรับข้าราชการครูฯ ที่สอนในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น แนะแนว ลูกเสือ เนตรนารี รวมทั้งปรับปรุงภาระงานสอน ในส่วนของชั่วโมงสอน ให้เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานจริง
2. เพิ่มทางเลือกในการยื่นคำขอเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับครูที่มีความถนัดในการสร้างและใช้นวัตกรรม
3. เพิ่มตัวชี้วัดการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
4. เพิ่มช่องทางการแนบหลักฐานการได้รับรางวัลหรือได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐหรือเอกชน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยเป็นการแนบตามความสมัครใจไม่เป็นเงื่อนไขบังคับ
5. พัฒนาระบบ DPA Version 3 ให้สะดวกต่อผู้ใช้งานมากขึ้น
6. จัดทำ Application สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างสำนักงาน ก.ค.ศ.กับกรรมการประเมินในระบบ DPA
เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ให้ความสำคัญเรื่องการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการปรับปรุงระบบการประเมินในครั้งนี้ ฝ่ายนโยบายและผู้บริหารระดับสูงทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันแล้ว และให้ความคิดเห็นตรงกันว่า ควรเปิดกว้างและเพิ่มทางเลือกที่หลากหลาย ในการประเมินให้ข้าราชการครูฯ ได้เลือกประเมินตามความเหมาะสมและความถนัด
โดยได้เพิ่มห้องเรียนรวมถึงทางเลือกในการยื่นคำขอเพิ่มขึ้น และใช้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเข้ามาเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติม เนื่องจากเกณฑ์ PA ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไปพร้อม ๆ กับเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งตนขอยืนยันและให้ความมั่นใจกับข้าราชการครูฯ ว่า กระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าใช้เกณฑ์ PA ในการประเมินวิทยฐานะฯ ต่อไป
และขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบการประเมินฯ และปรับระบบ DPA ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการดำเนินการทั้ง 6 ประเด็น ดังกล่าว และจะแจ้งผลการดำเนินการให้ทุกท่านทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป